ESO จะแถลงข่าวผลศึกษาล่าสุดของกล้องโทรทรรศน์ EHT ที่อาจมีข่าวดีให้เราได้เห็นภาพถ่ายหลุมดำของจริง ไม่ต้องมโน ไม่ใช่กราฟิก อันอาจจะเป็นอีกก้าวของมนุษยชาติที่ขยับเข้าใกล้ความลับของจักรวาล สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์ข้อความ ระบุถึงการที่มนุษยชาติอาจจะได้พบกับปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะการได้เห็นภาพจริงของหลุมดำ ที่ที่ผ่านมา ที่เราได้เห็นกันนั้น เป็นเพียงการมโนภาพนิยามทฤษฎีทางฟิสิกส์และคณิตศาสตร์เท่านั้น พร้อมกับชวนมาร่วมลุ้นพร้อมกันทั่วทั้งโลก ในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 20:00 น. ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย องค์การแห่งยุโรปเพื่อการวิจัยทางดาราศาสตร์ในท้องฟ้าซีกใต้ (ESO) จะแถลงข่าวถึงผลการศึกษาล่าสุดจากโครงการกล้องโทรทรรศน์ EHT ที่อาจจะทำให้ชาวโลกได้เห็นภาพอันแท้จริงของหลุมดำกัน โดยติดตามได้ที่ https://www.eso.org/public/ https://www.youtube.com/watch?reload=9&v=Dr20f19czeE https://www.facebook.com/ESOAstronomy/ และสำหรับใครที่มีคำถาม สามารถโพสลงโซเชียลมีเดียแล้วใส่แฮชแท็ก #AskEHTeu ทีมงานจะคัดเลือกคำถามและตอบผ่านการแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ “สำหรับ หลุมดำ ก่อตัวขึ้นจากดาวฤกษ์มวลมหาศาลที่วิวัฒนาการมาถึงจุดจบในการระเบิดซูเปอร์โนวา ทุกสิ่งบริเวณใจกลางดาวฤกษ์ที่หลงเหลือจากการระเบิด จะยุบและบีบอัดตัวลงกลายเป็นวัตถุที่เล็กและมีความหนาแน่นมากๆ บริเวณรอบวัตถุดังกล่าวจะมีความโน้มถ่วงสูงมากจนไม่มีสิ่งใดหลุดพ้นออกมาได้แม้แต่แสง อย่างไรก็ตาม วัตถุต่างๆ ที่อยู่บริเวณรอบหลุมดำ เช่น แก๊ส ฝุ่น และดาวฤกษ์ดวงอื่นจะถูกดึงดูดด้วยความโน้มถ่วง เมื่อวัตถุต่างๆ เหล่านี้หมุนวนอยู่รอบหลุมดำ พวกมันจะพุ่งชนกันเองจนเกิดความร้อนและเปล่งแสง และหากวัตถุเหล่านี้อยู่ห่างจากหลุมดำมากเพียงพอ แสงจะสามารถหลุดพ้นออกมาได้ ขณะหลุมดำเคลื่อนผ่านด้านหน้าวัตถุ หลุมดำยังสามารถบิดเบือนภาพของวัตถุเนื่องจากความโน้มถ่วงของหลุมดำจะเบี่ยงเบนเส้นทางเดินของแสงจากวัตถุด้านหลัง ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “เลนส์ความโน้มถ่วง” (Gravitational lensing) วิดีโอนี้เป็นวิดีโอจำลองหลุมดำที่มีมวลมหาศาล เรียกว่า “หลุมดำมวลยวดยิ่ง (Supermassive Blackhole)” เป็นหลุมดำที่มีมวลในหลักล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ พบเฉพาะบริเวณใจกลางกาแล็กซีขนาดใหญ่  วิดีโอนี้จำลองมาจากหลุมดำที่อยู่ใจกลางทางช้างเผือก แสงที่ส้ม/แดง แสดงถึง พลาสมาที่หมุนวนอยู่รอบ ๆ หลุมดำ ที่มา :http://www.blackholecam.org https://www.youtube.com/watch?v=SXN4hpv977s&feature=youtu.be พร้อมมารู้จักกับ กล้องโทรทรรศน์อีเวนต์ฮอไรซัน (Event Horizon Telescope หรือ EHT) ซึ่งเป็นเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ที่ใช้ศึกษาหลุมดำ สำหรับกล้องโทรทรรศน์อีเวนต์ฮอไรซัน เป็นโครงการที่รวบรวมและเชื่อมต่อเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุความถี่สูง (230-450 GHz) จากทั่วทุกมุมโลก จะสังเกตการณ์ร่วมกัน เสมือนเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ ภายใต้ชื่อ Event Horizon Telescope หรือ EHT มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อถ่ายภาพหลุมดำมวลยวดยิ่ง การรวบรวมและเชื่อมต่อเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ จากกล้องโทรทรรศน์วิทยุความถี่สูงทั่วทุกมุมโลกเหล่านี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับสัญญาน ความไว และกำลังแยกภาพ ผ่านเทคนิคเครือข่ายการแทรกสอดระยะไกล (Very Long Baseline Interferometer : VLBI) เมื่อทำงานร่วมกัน จะเสมือนว่ามีกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเท่ากับเส้นผ่านศูนย์กลางของโลก ในแต่ละปีนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลภาพแรกได้ในปี พ.ศ. 2549 โครงการกล้องโทรทรรศน์อีเวนต์ฮอไรซัน ยังดำเนินการเพิ่มเติมเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุให้มากขึ้น เพื่อเป้าหมายถ่ายภาพหลุมดำมวลยวดยิ่งใจกลางกาแล็กซี Sagittarius A แต่เนื่องจากกล้องโทรทรรศน์ขั้วโลกใต้ถูกปิดในช่วงฤดูหนาว (เดือนเมษายน – เดือนตุลาคม) มีผลต่อการส่งข้อมูลกลับมาวิเคราะห์ล่าช้าไปจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2550 ทำให้การเผยแพร่ภาพดังกล่าวยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ ข้อมูลภาพถ่ายจากโครงการนี้ จะถูกขนส่งโดยสายการบินเจ็ท Sneakernet ที่รวบรวมข้อมูลจากเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุทั่วโลก ไปยังหอดูดาว MIT Haystack Observatory ในรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา และสถาบันดาราศาสตร์วิทยุมักซ์พลังค์ เมืองบอนน์ เยอรมนี เพื่อประมวลผลแบบกริด (Grid Computer) จากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกัน 800 ซีพียู ในโครงข่าย 40 Gbit/s เรียบเรียง : โสธญา ประทุมทรัพย์ และ ธนกร อังค์วัฒนะ - สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อ้างอิง: https://eventhorizontelescope.org/