ด้วยปีนี้ประเทศเมียนมา ถูกแซงก์ชั่น (sanction) ทางเศรษฐกิจ จึงทำให้ตลาดโดยรวมค่อนข้างชะลอตัว แต่เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่องในช่วงปี 2 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นนักท่องเที่ยวหลักของอาเซียนที่เข้ามาในไทย โดยนิยมที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวทางจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พัทยา เพราะฉะนั้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้จัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบ B2C (business to consumer) เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว และบริการทางการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดเมียนมาพร้อมทั้งกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเมียนมากลุ่มศักยภาพตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เจาะตลาดกลุ่มใหม่ ในเรื่องนี้ นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ปีนี้ได้หันมาเน้นทำตลาดนักท่องเที่ยวจากอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจทางภูมิภาคยุโรปยังชะลอตัว ซึ่งจากตัวเลขรายได้ของกลุ่มนักท่องเที่ยวอาเซียน พบว่า นักท่องเที่ยวจากเมียนมา เป็นตลาดคุณภาพที่เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวเมียนมาร์ เดินทางเข้ามาประเทศไทยประมาณ 387,722 คน โดยเฉพาะงานอะเมซิ่ง ไทยแลนด์ ทราเวล แฟร์ 2019 ที่ทางทททได้จัดขึ้นที่กรุงย่างกุ้ง ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจากประเทศไทย และเมียนมาเข้าร่วม ได้รับความสนใจจากประชาชนเมียนมาทั้งสอบถาม และซื้อแพ็กเกจทัวร์แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง อาทิ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ เมืองพัทยา และซื้อแพ็กเกจทัวร์ตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลชั้นนำของไทย อาทิ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลพระราม 9 เป็นต้น สำหรับนักท่องเที่ยวเมียนมาที่มาเที่ยวเมืองไทยส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มอายุ 40-60 ปี และเป็นกลุ่มคนที่มาท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว ดังนั้นในปีนี้ทางททท.จึงเน้นไปที่ตลาดกลุ่มใหม่ ทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มนักธุรกิจและบุคคลในสังคมชั้นสูงเมียนมา ด้วยการนำเสนอสินค้าและบริการระดับลักชัวรี เพื่อกระตุ้นให้ตลาดดังกล่าว เดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้น โดยตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้นอีก 3-5% จากปัจจุบันที่มีอัตราค่าใช้จ่าย3-5 หมื่นบาทต่อคนต่อทริปในระยะเวลา 5 วัน ซึ่งกลุ่มสินค้าและบริการที่ได้รับความนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหารไทย เสื้อผ้า นวดแผนไทยและสปา เครื่องสำอางผลิตภัณฑ์เสริมสวย ตรวจสุขภาพและการรักษาพยาบาล เป็นต้น เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ด้าน นายชัชวาลย์ ตันมานะตระกูล เจ้าของร้าน รอยัล จัสมิน ร้านอาหารไทยในกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา กล่าวว่า ร้านอาหารไทยเป็นสุดยอดอาหารไทยในต่างแดน โดยเฉพาะในประเทศเมียนมา ซึ่งส่วนใหญ่จะมีคนระดับบน หรือประมาณ 20%ของคนรวยจะนิยมมาทานอาหารที่ร้าน เนื่องจากราคาเริ่มต้นของแต่ละเมนูค่อนข้างแพง เมื่อเทียบกับอาหารพื้นถิ่น หรืออาหาร อื่นๆ ที่ชาวเมียนมาร์นิยม อีกเหตุผลหนึ่งน่าจะมาจากค่าเช่าที่ และการลงทุนในเบื้องต้น ถ้าผู้ประกอบการคนไทยไม่มีพันธมิตรทางการค้าเป็นชาวเมียนมาก็จะต้องลงทุนสูงมาก ดังนั้นนักลงทุนจากเมืองไทยจึงมักมีพันธมิตรเป็นชาวเมียนมาในการร่วมลงทุนด้วยกัน ซึ่งร้านอาหารไทยถือเป็นกิจการหนึ่งที่นักลงทุนเมียนมาสนใจ อย่างไรก็ตาม อาหารไทย ที่ได้รับความนิยมจากชาวเมียนมา ส่วนใหญ่มักจะเป็นเมนูที่คุ้นหู อย่าง ผัดไทย ลาบปลากระพง ต้มยำ รวมไปถึงส้มตำ และก๋วยเตี๋ยวก็ได้รับความสนใจอยู่ไม่น้อย ซึ่งในการทำร้านอาหารไทยในประเทศเมียนมาจะต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสามารถเจาะตลาดได้ตรงจุด เพราะจะหมายรวมถึง การได้พันธมิตรทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับอาคาร และที่ดินซึ่งอยู่ในทำเลที่ดี กลุ่มเป้าหมายหาง่ายนั้นเอง ขณะที่ นายเอกดนัย งานการ ผู้จัดการฝ่ายขายบางกอกแอร์เวย์ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ประเทศเมียนมา กล่าวว่า ในส่วนของตลาดดังกล่าวมียอดเติบโตถึง 20% เนื่องจากชาวเมียนมาร์นิยมซื้อตั๋วโดยสาร เพื่อเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง หรือ เอฟไอที ไปพักผ่อนในเมืองไทย ทั้วช็อปปิ้ง ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การศึกษาต่อ ทำงาน และติดต่อธุรกิจ ซึ่งจะเป็นกลุ่มนักธุรกิจ และกลุ่มข้าราชการ เป็นต้น โดยบางกอกแอร์เวย์เวลานี้มีบินตรงสู่ประเทศไทย 59 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ คือ ย่างกุ้ง-กรุงเทพฯ 28 เที่ยวบิน ย่างกุ้ง-เชียงใหม่ 7 เที่ยวบิน มัณฑเลย์-กรุงเทพฯ 14 เที่ยวบิน มัณฑเลย์-เชียงใหม่ 4 เที่ยวบิน และเนปิดอร์-กรุงเทพฯ 6 เที่ยวบิน