รมช.เกษตรการันตี “เดชา ศิริภัทร”เอาตำแหน่ง-ชีวิตรับประกัน ยกย่องหัวใจโพธิสัตว์ทำเพื่อผู้อื่น-แนะทุกฝ่ายจัดทีมสนับสนุน นักกฎหมายชี้จับกุมกัญชาครั้งนี้ผิดหลักการ ระบุบทเฉพาะกาลนิรโทษกรรม 90 วันถึง 20 พค. เมื่อวันที่ 9 เม.ย.62 นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดเข้าตรวจค้นและยึดกัญชา-สารสกัดจากกัญชาได้ที่มูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีนายเดชา ศิริภัทร เป็นประธานมูลนิธิ และจับกุมเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ ไปดำเนินคดี ว่านายเดชาเป็นคนซื่อตรงและมีชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นมาโดยตลอด มีความเมตตา มีการปฏิบัติธรรมและลงมือทำด้วย แม้อายุกว่า 70 ปีแล้วยังคอยช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ทางผู้ปฏิบัติเรียกว่าเป็นผู้มีหัวใจโพธิสัตว์คือเห็นใครเดือดร้อนก็อยากจะช่วยเหลือ แม้รู้ว่าช่วยเหลือแล้วเสี่ยงเพราะกฎหมายไม่ค่อยเอื้อ แต่เมื่อเห็นคนทุกข์ ก็ยอมเสี่ยงเองเพื่อทำยาแจกคนยากคนจนและคนทุกข์เข็ญเพราะยากที่จะไปซื้อยามารักษาโรคร้าย โดยเฉพาะโรคมะเร็ง นายวิวัฒน์กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายทุกรัฐบาล นักวิชาการ นักการเมือง ผู้มีความรู้จัดตั้งคณะกรรมการหรือทีมงานสนับสนุนช่วยเหลือนายเดชาให้ได้ผลิตยาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และไม่ให้กฎหมายเป็นอุปสรรค เพราะกฎหมายมีไว้เป็นเครื่องมือให้คนทำดีเพื่อสังคมอยู่กันอย่างสงบร่มเย็น กฎหมายไม่ได้มีไว้บังคับคนดีไม่ให้ทำความดี หวังว่าประเทศเราจะมีคนดีร่วมมือกัน ทำให้กฎหมายเอื้องานของนายเดชา หรือทำให้อำนาจรัฐ อำนาจเงิน อำนาจทุน อำนาจความรู้ ไปสนับสนุนงานของนายเดชาให้ช่วยเหลือคนได้มากขึ้น “ผมรับรองและรับประกันอาจารย์เดชวอยู่แล้ว นี่ก็รับรองไปที่รัฐมนตรีทุกคนในคณะรัฐมนตรี แจ้งผ่านไลน์ ถ้าให้ ไปเซ็นรับรองนี่เอาตำแหน่งไปแลกเลย ประกันเลย ถ้าอาจารย์เดชาผิดเอาตำแหน่งไปเลย อย่าว่าแต่ตำแหน่งทรัพย์สินเงินทอง แม้แต่ชีวิต ถ้าเซฟอาจารย์เดชาไว้ให้ช่วยเหลือคนจำนวนมาก เอาชีวิตเราไปแลก ติดคุกแทนยังทำได้เลย เราไม่มั่นใจว่าจะทำเรื่องเหล่านี้ได้ดีเท่าอาจารย์เดชาหรือเปล่า ควรให้คนที่มีความรู้ที่สุด เสียสละที่สุดอยู่ทำงานต่อไป เห็นอยู่ว่าคนอย่างอาจารย์เดชาเสียสละมานาน เพราะฉะนั้นผมยินดีเอาตำแหน่งเป็นประกัน เอาชีวิตเป็นประกันเลยด้วยซ้ำไป”นายวิวัฒน์ กล่าว นายวิวัฒน์กล่าวว่า จริงๆกัญชาเป็นสมุนไพรที่ควรได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง รัฐควรมีมาตรการบางอย่าง แต่ไม่ใช่เหมาห้ามไปทั้งหมด และไม่ใช่ห้ามคนที่สกัดปรุงยาช่วยเหลือคนอื่น “ข้าราชการส่วนใหญ่ก็คงไม่อยากไปจับหรอก เขารู้อยู่เต็มอกว่านี่เป็นประโยชน์ส่วนรวม เป็นประโยชน์ต่อคนยากคนจน คงมีแต่ข้าราชการนิดเดียว ซึ่งผมเชื่อลึกๆ ว่ามีความผูกพันอยู่กับบริษัทเอกชน อย่างบริษัทยานี่ถ้าชาวบ้านรวมตัวกันผลิตยาได้เองทั้งประเทศ รวมทั้งเพื่อนบ้านละแวกนี้ด้วย บริษัทยาจะอยู่ยาก เขาก็ต้องเคลื่อนไหวต่อสู้ วิธีการง่ายๆ คือเอากฎหมายไปบังคับ ง่ายที่สุดคือไปจับมือกับข้าราชการเอากฎหมายมาจับ”นายวิวัฒน์ กล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่ามองประเด็นการรักษาโรคด้วยกัญชาซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับคนยากคนจนอย่างไร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯกล่าวว่า ระบบบริการทางการแพทย์และระบบการพัฒนาต่างๆที่รัฐทั่วโลกกระทำอยู่ตอบสนองช้า ดังนั้นชาวบ้านจึงต้องลุกขึ้นพึ่งตนเอง จึงต้องเร่งปฎิรูปและปรับปรุงกันครั้งใหญ่ การปฏิรูปที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือการทำให้คนทั้งประเทศลุกขึ้นรักกันสามัคคีกัน โดยช่วยกันสร้างปัจจัยที่จำเป็น อย่าทิ้งให้ใครอดอยาก อย่าทิ้งให้ใครทุกข์เข็ญอยู่ข้างหลัง ซึ่งตนถือว่านายเดชาเสียสละทำให้คนทั้งประเทศได้เห็น ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีไปจนถึงขอทานเลย เพราะทุกคนมีสิทธิเจ็บป่วยเหมือนกันหมด ซึ่งได้เวลาแล้วที่ประชาชนจะรวมตัวกันพึ่งตนเองให้ได้ ขณะที่นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ผ่านเฟสบุคKomsarn Pokong เกี่ยวกับข้อสงสัยทางกฎหมาย กรณีการครองครองกัญชาของมูลนิธิข้าวขวัญ โดยมีเนื้อหาบางตอนระบุว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 พระราชบัญญัติ(พรบ.)ยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้มีผลใช้บังคับโดยในบทบัญญัติมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดหลักการสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายไว้ในลักษณะของบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดในกฎหมายดังกล่าวเป็นเวลา 90 วัน นายคมสันกล่าวว่า โดยบทบัญญัติในมาตรา 22 ระบุว่า ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การใช้รักษาโรคเฉพาะตัว หรือการศึกษาวิจัย อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไม่ต้องรับโทษสำหรับการกระทำนั้นเมื่อดำเนินการดังต่อไปนี้ (1) ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาภายใน 90 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ในกรณีที่เป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 26/5 ให้สามารถครอบครองยาเสพติดให้โทษดังกล่าวได้ต่อไปจนกว่าการพิจารณาอนุญาตจะแล้วเสร็จ (2) ในกรณีนอกจาก (1) ให้แจ้งการครอบครองต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาภายในกำหนด 90 วัน ทั้งนี้ หากเป็นผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคเฉพาะตัว และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ นายคมสัน กล่าวว่าบทเฉพาะกาลดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ครอบครองยาเสพติดประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ ไม่ต้องรับโทษ หากได้ดำเนินการตามที่กำหนดในบทบัญญัติมาตรา 22 ดังกล่าว ภายในช่วงเวลา 90 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ คือ ในช่วงเวลาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ -วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 โดยหลักการของบทเฉพาะกาลนี้ เป็นบทกฎหมายที่มีลักษณะพิเศษเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นการยกเว้นการรับโทษในช่วงกฎหมายใช้บังคับ ซึ่งการมีกฎหมายใหม่จะทำให้ผู้ครอบครองกัญชาไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องได้รับผลกระทบจากการมี พรบ.ฉบับนี้ และจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ซึ่งกระทำการที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดจะได้ปฏิบัติตนให้เป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใหม่ทันทีที่กฎหมายใช้บังคับ รวมทั้ง จะมีผลทำให้เป็นการลดการกระทำความผิดกฎหมายและได้ผลในการสมัครใจเข้าสู่การดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นการลดการก่ออาชญากรรมในรูปแบบมาตรการทางกฎหมายเชิงบวก นายคมสันกล่าวว่า บทบัญญัติมาตรา 22 ดังกล่าว มีลักษณะเดียวกับการกำหนดการนิรโทษกรรมตามบทเฉพาะกาลที่พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง ซึ่งเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายแต่ละครั้ง ก็ได้มีการนิรโทษกรรมเกือบทุกครั้ง ดังนั้น เมื่อเราพิจารณาเปรียบเทียบบทบัญญัติของการตราบทเฉพาะกาลเพื่อนิรโทษกรรม ให้แก่ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ดังกล่าวข้างต้น กับบทบัญญัติมาตรา 22 แห่งพรบ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7)แล้ว ก็จะพบหลักการสำคัญในการนิรโทษกรรม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ กล่าวว่า ด้วยประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เข้าตรวจค้นและจับกุมบุคคลในมูลนิธิข้าวขวัญ ว่ามีการผลิต ครอบครอง จำหน่ายจ่ายแจก กัญชา ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 ที่ได้รับการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดในช่วง 90 วัน จึงเป็นการปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักการของกฎหมาย และเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของมาตรา 22 เพราะการมีบทเฉพาะกาลดังกล่าวเป็นไปด้วยเงื่อนไขที่หลายฝ่ายก็เข้าใจอยู่ว่า ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ -วันที่ 20 พฤษภาคม เป็นช่วงเวลาของการนิรโทษกรรมไม่เอาผิดกับผู้ซึ่งมีไว้ในการครอบครองกัญชาในทุกกรณี ไม่ว่าจะมีไว้ในครอบครองเพื่อผลิต การค้า การจำหน่าย จ่ายแจก หรือกิจกรรมใด ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การใช้รักษาโรคเฉพาะตัว การศึกษาวิจัย หรือเพื่อการใดๆ ซึ่งรวมถึงการมีไว้เพื่อสันทนาการ ก็ตาม ก็ได้รับประโยชน์จากบทนิรโทษกรรมดังกล่าวด้วย “เมื่อหลักการของกฎหมายเป็นไปดังกล่าว การกระทำของเจ้าหน้าที่ที่เข้าดำเนินการกับมูลนิธิขวัญข้าว จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมายในสาระสำคัญของหลักนิติรัฐ คือหลักกฎหมายว่าด้วยความมาก่อนของกฎหมาย และการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามกฎหมาย เราไม่รู้ว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเกิดจากวัตถุประสงค์ใด แต่หากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อกลั่นแกล้งให้บุคคลใดต้องรับผิดทางอาญา หรือเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดๆในการมีสิทธิเหนือกัญชา เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งคงต้องเตรียมตัวสำหรับการรับผลจากการกระทำเอาไว้ด้วย”นายคมสัน กล่าว