ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้ทำการ Scan ทุกพื้นที่ สำรวจและวางแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต้นทุน (One Page) ในความรับผิดชอบดูแลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติในเขตชลประทาน เพื่อประเมินสถานการณ์ปริมาณน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการ และประเมินพื้นที่ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดปัญหาขาดแคลน้ำ รวมทั้ง สำรวจแหล่งน้ำบ่อบาดาล ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน นำมาประเมินสถานการณ์น้ำเช่นกัน เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนบริหารจัดการน้ำ พร้อมออกมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/2562 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่พื้นที่เขตชลประทาน ปัจจุบันมีน้ำใช้การ 44 % แต่หากแบ่งตามภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณน้อยที่สุด มีเพียง 22% ภาคกลาง 23% ภาคเหนือ 38% ภาคตะวันออก 44% ภาคตะวันตก 58% และภาคใต้ 66% ตามลำดับ ทั้งนี้ ดำเนินการจัดสรรน้ำไปแล้ว 18,983 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 82% จากปริมาณน้ำ ตามแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง 2561/2562 และต่อเนื่องไปยังต้นฤดูฝน จำนวน 23,100 ล้าน ลบ.ม. โดยจะเหลือน้ำที่ต้องจัดสรร 4,117 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 18% อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ไม่ได้เพียงวางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้เท่านั้น แต่ยังอยู่ระหว่างการวางแผนบริหารจัดการน้ำไปถึงฤดูแล้งในปีถัดไป ตามโจทก์การบ้านที่พลเอกฉัตร สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้กรมชลประทาน ไปเร่งหาคำตอบ เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ไว้ว่า จะเกิดเอลนีโญ่อ่อนๆ อาจส่งผลให้ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ 10-30% เข้าสู่ฤดูฝนช้าลงช่วงปลายเดือนพฤษภาคม และปริมาณน้ำฝนในปี 2562 จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย อีกทั้ง พื้นที่เขตชลประทานทั่วประเทศ มีการปลูกข้าวรอบ 2 ทำให้ใช้น้ำเกินแผน ประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ม. จึงต้องดึงปริมาณน้ำที่สำรองช่วงต้นฤดูฝนมาใช้ก่อน โดยเฉพาะใน 32 จังหวัด พื้นที่ 1.18 ล้านไร่ แต่กรมชลประทาน ได้มีการปรับแผนการระบายน้ำให้เหมาะสม และดูแลไม่ให้เกิดความเสียหาย โดยการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรงดเพาะปลูกข้าวต่อเนื่องหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี และควบคุมการเพาะปลูกพืชในฤดูแล้ง ส่งผลให้สามารถช่วยลดระดับพื้นที่ใช้น้ำเกินแผนลง “ยืนยันว่า ทุกกิจกรรมในพื้นที่เขตชลประทาน โดยเฉพาะการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การทำการเกษตร และการรักษาระบบนิเวศ น้ำมีปริมาณเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ ถึงสิ้นเดือนเมษยายน และมีปริมาณน้ำสำรองต้นฤดูฝน จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม” แต่พื้นที่นอกเขตชลประทาน 7 จังหวัด ยังน่าเป็นห่วง กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ ชัยภูมิ นครราชสีมา เลย กาญจนบุรี และราชบุรี เพราะอยู่นอกเขตการบริการของการปะปา และไม่มีแหล่งน้ำที่สามารถลำเลียงน้ำ เพื่อให้การช่วยเหลือได้ จึงได้ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำแผนให้การช่วยเหลือ ส่วนกรมชลประทาน ได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ และเครื่องมือต่างๆ รวม 4,850 หน่วย ในพื้นที่เขตชลประทาน และพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั่วประเทศ พร้อมใช้สนับสนุนภารกิจช่วยเหลือตลอดเวลาช่วงฤดูแล้งนี้ โดยสามารถแจ้งขอความช่วยได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือสายด่วยกรมชลประทาน 1460 ส่วนการปลูกข้าวรอบ 2 เกินแผน 130,000 ไร่ ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยใช้น้ำจากสถานีสูบน้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม ได้มีการเตรียมแผนการช่วยเหลือไว้แล้ว และหากพื้นที่ดังกล่าวประกาศเป็นเขตภัยแล้ง ก็จะได้รับการพิจารณาจ่ายค่าชดเชยช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันมีการประกาศให้ 3 จังหวัด เป็นพื้นที่ภัยแล้ง ได้แก่ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และตราด สำหรับการรณรงค์ให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด ได้ดำเนินการมาตลอด ประกอบกับรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำ “โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา” ตั้งพื้นที่ 2 ล้านไร่ ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ พื้นที่ 700,000 ไร่เศษ ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะการปลูกข้าวโพเลี้ยงสัตว์ ใช้น้ำเพียง 1 ใน 3 ของการปลูกข้าว อีกทั้งมีการรณรงค์ “การใช้น้ำอย่างคุ้มค่า และประหยัด” ในภาคส่วนอื่นๆ โดยร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม เป็นการบูรณาการเชิงพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ดร.ทองเปลว กองจันทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการรณรงค์ช่วยกันประหยัดน้ำ เกษตรกร และประชาชนมีความตื่นตัว ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันประหยัดน้ำ โดยมีดัชนีชี้วัดในหลายปัจจัย อาทิ พื้นที่การเพาะปลูกข้าวรอบ 2 ลดลง และเกษตรกร คนในชุมชน ช่วยกันสร้างแหล่งน้ำเพื่อกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ เช่น ฝายชะลอน้ำ พร้อมแบ่งปันน้ำกันใช้ ทำให้ไม่มีปัญหาแย่งน้ำเหมือนเช่นที่ผ่านมา