ท่องเที่ยวแก่นมะกรูดทิศทางดี ช่วงฤดูหนาวมีนักท่องเที่ยวมาเยือนกว่า 200,000 คน ดันรายได้ชาวบ้านครึ่งแรกของปีงบประมาณได้กว่า 5 ล้านบาท เตรียมต่อยอดความยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ ให้เที่ยวได้ทั้งปีโดยเพิ่มสร้างพื้นที่สีเขียว สนับสนุนปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาว ไม้ผลยืนต้นที่ขายได้ราคา นายเผด็จ นุ้ยปรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จังหวัดอุทัยธานี ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานด้านการท่องเที่ยว โครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการปิดทองหลังพระฯ ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานีกล่าวว่า เท่าที่มีการเก็บสถิติช่วงเดือนธันวาคม 2561 จนถึงเดือนมกราคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลท่องเที่ยวฤดูหนาวของแก่นมะกรูดมีนักท่องเที่ยวมาเยือนกว่า 200,000 คน เฉพาะช่วงที่เป็นวันหยุดยาวปีใหม่ 4 วันมีนักท่องเที่ยวกว่า 45,000 คน ใรช่วงเทศกาลดังกล่าว อบจ. ร่วมกับชาวบ้านและมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวฤดูหนาวภายใต้สโลแกน “หนาวสุดกลางสยาม” เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสอากาศหนาวเย็นของผืนป่าเขตอุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง ควบคู่กับกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนกะเหรี่ยงที่เคยบุกรุกป่าทำไร่ มาเป็นผู้ให้บริการที่พักแบบโฮมสเตย์และจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรของพื้นที่ทำรายได้เข้าชุมชนแทน กิจกรรมดังกล่าวทำให้รายได้ของชาวบ้านแก่นมะกรูดในด้านการท่องเที่ยว 2 ไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 2561 ถึงเดือน มีนาคม 2562) จากกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย ตลาดกะเหรี่ยง และการแสดงรำตง 3,302,952 บาท จำหน่ายพืชเมืองหนาว 1,142,410 และจุดบริการกางเต้นท์ที่พัก 765,530 บาท รวมกันเป็นเงิน 5,210,892 บาท “จากการจัดเทศกาลท่องเที่ยวไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านในชุมชนที่เริ่มมองเห็นการพัฒนาพื้นที่ว่าส่งผลดีและเกิดประโยชน์หลายด้าน เป็นไปตามแนวพระราชดำริ - เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา – เพราะที่ผ่านมาเขายังไม่เข้าใจถึงสิ่งที่หน่วยงานเข้าไปส่งเสริมว่าจะเกิดประโยชน์อะไร ตอนนี้ก็ได้เข้าใจแล้ว ดังนั้นงานต่อไปที่ท้าทายของ อบจ.คือสร้างความยั่งยืน” นาย เผด็จ กล่าวว่า เมื่อมีรายได้จากกิจกรรมอื่น ๆ ทั้งการปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง และการท่องเที่ยว ก็ส่งผลให้ชาวบ้านใช้พื้นที่ป่าลดลง มีการพัฒนาอาชีพจากการท่องเที่ยว เช่น การตื่นตัวเปิดให้บริการโฮมสเตย์กันมากขึ้น จนปัจจุบันมีกว่า 20 แห่ง มีการปรับปรุงพื้นที่เพื่อการเพาะปลูก พืชผัก ผลไม้เมืองหนาว รวมถึงไม้ยืนต้นที่เป็นพืชเศรษฐกิจ ไม้ผลที่ปลูกยังช่วยเพิ่มร่มเงา ลดการบุกรุกและเริ่มได้ป่ากลับคืนมา “สิ่งที่เกิดขึ้นพิสูจน์ว่าแนวพระราชดำริเรื่องการเริ่มแบบเล็กๆ มีความตั้งใจ มีบูรณาการ สำเร็จได้จริง ชาวบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น และทั้งหมดนี้นักท่องเที่ยวทุกท่านล้วนแต่มีส่วนช่วยให้เกิดความสำเร็จ” ปัจจุบัน อบจ.อุทัยธานี และปิดทองหลังพระ ฯ ร่วมกันสนับสนุนให้ปลูกและได้เริ่มดำเนินการแล้ว อาทิ กาแฟ อโวกาโด พลับ ทุเรียน ลองกอง เพราะสภาพอากาศของแก่นมะกรูดดีกว่าในหลายพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะเข้ามามีบทบาทด้านเมืองท่องเที่ยวผลไม้ในอนาคต จนทำให้ท่องเที่ยวได้ตลอดปีตามเป้าหมาย “วันนี้ชาวบ้านมีความเข้าใจมากขึ้นว่าสิ่งที่หน่วยงานเข้ามาส่งเสริมคืออะไร ได้ประโยชน์อย่างไร เพราะเขามีรายได้เพิ่มจากนักท่องเที่ยว มีอาชีพใหม่ๆ อย่างรถสองแถวรับส่งนักท่องเที่ยวจริงจังก็เริ่มในปีนี้ผลผลิตเกษตรก็ขายได้ราคาไม่ต้องพึ่งแต่ข้าวโพด เมื่อก่อนเขายังไม่เข้าใจจากที่ไปดูงานในหลายๆ พื้นที่ปลูกทุเรียนเป็นภูเขาจะทำอย่างไร แต่การท่องเที่ยวทำให้เข้าใจมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือ เขาต้องไม่หยุดพัฒนาตนเอง การที่จะรอให้หน่วยงานเอามาให้อย่างเดียวตลอดทำไม่ได้ต้องให้เขาเข้าใจและพัฒนาด้วยตัวเอง เมื่อมาใหม่ ๆ เขาอาจไม่ยอมรับ เป็นเพราะนิสัยที่หากไม่มั่นใจก็จะไม่เอา แต่ตอนนี้เชื่อว่าเขาเข้าใจ และมั่นใจมากขึ้น”