เรื่อง/พุทธชาติ แซ่เฮ้ง ภาพ/พสุพล ชัยมงคลทรัพย์ หมายเหตุ : เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กมากขนาด 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่มีระดับความเข้มข้นเกินค่ามาตรฐาน กลายเป็นมลพิษทางอากาศ และปัจจุบันเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้วิเคราะห์สาเหตุปัญหาฝุ่นพิษ พร้อมเสนอแนะแนวทางการแก้ไขป้องกัน ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้ -ความแตกต่างของปัญหาฝุ่นละอองระหว่างพื้นที่กรุงเทพฯ กับพื้นที่ภาคเหนือ พื้นที่ภาคเหนือ สาเหตุหลักเกิดจากการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง เช่น พื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่ภาคเกษตร โดยจากการสำรวจตัวเลขพบว่า จะเกิดการเผาไหม้ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์มากที่สุด รองลงมาเป็นการเผาไหม้พื้นที่ภาคเกษตร และฝุ่นละอองลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ด้วยปัญหาปริมาณรถที่วิ่งตามท้องถนนจำนวนมาก ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และการก่อสร้างอาคาร -นายกรัฐมนตรี ขึ้นเหนือประชุมด่วน พร้อมยกระดับปัญหาเป็นวาระแห่งชาติ ปัญหาเรื่องฝุ่นไม่ได้เพิ่งเกิดแค่ปีเดียว เกิดขึ้นมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะขาดสรรพกำลัง และงบประมาณของภาคท้องถิ่น ที่ไม่เพียงพอ หากดูตัวเลขของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าทั่วประเทศมีเพียง 6,200 คน รวมงบประมาณของทั้งประเทศในการดับไฟป่า แค่ 620 ล้านบาท เม็ดเงินแค่หลักร้อยล้าน กับปัญหาที่มันหนักมากๆ จึงทำให้แก้ปัญหาไม่สำเร็จ จึงต้องลุ้นกันว่าจะมีการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติหรือไม่ การที่นายกฯ ลงพื้นที่ภาคเหนือถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ผู้นำประเทศให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา มีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้กับท้องถิ่น และขีดเส้นว่าภายใน 7 วัน ปัญหาต้องเบาบางลง ซึ่งมองว่าเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นมาก หากผ่านพ้นไป 7 วัน หรือปีหน้า สาเหตุของปัญหาไม่ถูกแก้ไข ปัญหาฝุ่นก็จะกลับมาเหมือนเดิม ถ้าไม่มีมาตรการต่อเนื่อง -สถานการณ์ฝุ่นปัจจุบัน ถึงขั้นประกาศเป็นเขตภัยพิบัติหรือไม่ ต้องตีความ คำว่า ภัยพิบัติ คือ ภัยที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตกับมนุษย์ หรือเป็นภัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนมวลรวม ถ้าดู 2 นิยามนี้ ถึงเวลาที่ต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คำว่า ฝุ่น หรือมลพิษทางอากาศ ไม่เหมือนกับแผ่นดินไหว หรือน้ำท่วม เพราะไม่เห็นความเสียหายฉับพลัน ฝุ่นสูดเข้าร่งกายวันนี้ ไม่ได้เสียชีวิตวันนี้ แต่สะสมอยู่ในร่างกาย จึงอาจมองว่าเป็นปัญหาไม่รุนแรง แต่ถ้าถามคุณหมอ หรือองค์การอนามัยโลก (WHO) ปกติค่ามาตรฐานฝุ่นละอองเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่ารุนแรง แต่ของไทยวัดค่ามาตรฐาน 50-70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในเชิงสาธารณสุขถือเป็นภัยที่ร้ายแรงมากๆ จัดอยู่ในขั้นภัยพิบัติ ซึ่งจะต้องหาทางแก้ไขโดยด่วน ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่ประกาศเป็นภัยพิบัติ จะต้องมีการจัดกำลังคน และงบประมาณ ลงมาช่วยอย่างจริงจัง ให้เพียงพอกับการแก้ปัญหา ถ้าไม่เพียงพอก็สมควรที่จะประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ -แนวทางการแก้ไขปัญหาเผาป่า นอกจากการขอความร่วมมือ ต้องออกกฎหมายมาควบคุมหรือไม่ มาตรการการแก้ปัญหา การเผาป่า ควรมีการจัดระเบียบการเผา ไม่ให้เผาในช่วงเวลาเดียวกัน ดูสภาพภูมิอากาศที่ปลอดโปร่ง กำหนดพื้นที่การเผาห้ามเกินกี่ไร่ เพราะการปล่อยมลพิษในอากาศมาก จะเกินขีดความสามารถในการดูดซับของธรรมชาติ ส่วนพื้นที่ป่าห้ามเผา ต้องคุมเข้มไม่ให้มีการเผาอย่างเด็ดขาด แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ทรัพยากรบุคคล อุปกรณ์ดับไฟ และเทคโนโลยีมีจำกัด เวลามีไฟไหม้ กว่าจะมาถึงที่เกิดเหตุ ไฟลามไปทั่ว วิธีการแก้ปัญหา ต้องรู้ให้เร็ว ตรงไหนไฟไหม้ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย อุปกรณ์ต้องพร้อม ซึ่งเป็นแนวทางแก้ไขระยะสั้น ระยะยาว ต้องเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) ซึ่งเมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ลานิญา มีน้ำมาก ฝนดี ทำให้เชื้อเพลิงในป่าทับถม สร้างความชุ่มชื้นให้กับป่า แต่ปีนี้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ เกิดความร้อน จนป่าแห้งแล้ง ถ้าไม่มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า จะทำให้เกิดเชื้อเพลิงขึ้นจำนวนมาก เมื่อเกิดไฟไหม้จะกลายเป็นไฟลามทุ่ง ถ้าต้องการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือ ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเริ่มจากการปลูกฝังให้ชุมชนรักษ์ป่า ดังพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 "ปลูกป่าในใจคน" ให้ชาวบ้านได้รู้ถึงความเป็นเจ้าของ ประโยชน์ที่จะได้รับจากป่า จะทำให้รู้สึกห่วงแหนป่า และจะไม่ยอมให้ใครมาเผาป่าอย่างแน่นอน แม้ชาวบ้านยินดีเป็นอาสาสมัครช่วยดับไฟป่า แต่ก็ต้องทำมาหากิน ฉะนั้น งบประมาณ เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะมาช่วยชดเชยค่าเสียเวลา รวมทั้งส่งเสริมการปลูกป่าแบบผสมผสาน ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ "ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง" ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ปัญหาการเผาป่าจะไม่เกิดขึ้น ขณะที่ภาคเกษตร ก็เช่นเดียวกัน ต้องจัดระเบียบการเผา กำหนดมห้มีการรายงานกับหน่วยงานรัฐที่จัดตั้งขึ้นมาดูแล การเผาช่วงเวลาไหน วันไหน ควบคู่การสร้างความตระหนักรู้ให้กับเกษตรกร และผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตร ซึ่ง 2 ส่วนนี้ สำคัญ ถ้าผู้รับซื้อประกาศชัดว่า ไม่รับซื้อผลิตผลิตทางการเกษตรที่มาจากการเผา เกษตรกรก็จะไม่เผา อย่างเช่น ประเทศบราซิล มีการนำระเบียบสีเขียว (Green Protocol) มาใช้ เป็นมาตรการอาสาสมัครร่วมมือ เพื่อลดการเผา โดยใช้ในลักษณะแรงกดดันทางสังคม (Social Pressure) เช่น โรงงานน้ำตาลอ้อย 10 แห่ง มีโรงงาน 7 แห่งประกาศชัดจะไม่รับซื้ออ้อยที่เผา แต่อีก 3 แห่ง ไม่เข้าร่วม คนก็จะมองว่า 3 แห่งนี้ดูไม่ดี และถูดกดจนต้องเข้าร่วมในที่สุด ส่วนภาครัฐจะทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบว่ามีการทำจริง นอกจากนี้ ต้องสร้างแรงจูงใจเกษตรกร เพราะผลผลิตทางการเกษตรเผา หรือไม่เผา ขายได้ราคาเท่ากัน แต่ต้นทุนการเผาถูกกว่า แค่ไม่ขีดก้านเดียว แต่ถ้าไม่เผาต้นทุนประมาณ 500 บาท/ไร่ ดังนั้น ต้องให้ราคาที่แตกต่างกัน เพื่อสร้างแรงจูงใจเกษตรกรไม่เผา รวมทั้งสร้างการตลาดให้กับเศษวัสดุเกษตร ที่ต้องเผาฟางข้าว ซังข้าวโพด ชานอ้อย เนื่องจากไม่มีมูลค่า มลพิษทางเศรษฐศาสตร์เกิดขึ้น เพราะไม่มีตลาด ฉะนั้น การแก้ปัญหามลพิษได้ ต้องทำให้มีราคา เช่น อัดฟางข้าวเป็นก้อน เพื่อขายให้โรงงานอาหารสัตว์ เกษตรกรมีรายได้ แม้บางพื้นที่ทำอยู่ แต่ยังอยู่ในวงจำกัด ดังนั้น รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยส่งเสริมตรงนี้ เชื่อว่าเกษตรกรคงไม่เผาเงินทิ้งแน่นอน หากมองระยะยาว อาจคิดไปถึงการสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล โดยใช้เศษวัสดุทางการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยว่า หากใช้ชานอ้อย หรือฟางข้าว มาเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ไม่ต้องสร้างใหญ่โต เป็นเพียงแค่โรงไฟฟ้าชุมชน ทำให้มีความต้องการใช้เศษวัสดุทางการเกษตร ก็จะเกิดราคา และหัวใจสำคัญ คือ เครื่องจักรกลทางการเกษตร ปัญหาที่เกษตรกรต้องเผา เพราะไม่มีเครื่องจักร รถไถ รถเก็บเกี่ยว ขาดแคลนแรงงานคน ถ้ารัฐบาลส่งเสริมให้มีการตลาดเช่าซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร ในรูปบริษัท หรือสหกรณ์ เพื่อให้บริการทั่วถึงทั้งประเทศ และมีการแข่งขันหลายบริษัท เกษตรกรจะเข้าถึงได้ง่าย ราคาค่าเช่าถูกลง อย่างไรก็ดี ภาคเกษตร ยังมีพื้นที่ราบสูง ซึ่งเครื่องจักรไม่สามารถเข้าถึงได้ วิธีแก้ดีที่สุด คือ ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรผสมผสาน แทนการปลูกพืชเชิงเดียว เพื่อลดมลพิษ อย่างไรก็ตาม ในส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ มาตรการการแก้ปัญหาต้องสร้างความตระหนักรู้ ถึงอันตรายร้ายแรงของฝุ่น ซึ่งเป็น "มัจุราชมืด" โดยฉพาะผู้นำทั้งภาครัฐ และเอกชน ต้องตระหนักด้วย เมื่อออกนโยบายขึ้นมา ก็จะคิดรอบคอบนึกถึงสิ่งแวดล้อม หากมองยาวไปอีก อาจออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน ใส่เรื่องผลกระทบจากมลพิษ ปลูกฝังตั้งแต่เด็ก รวมถึงเข้มงวดในการตรวจจับควันดำอย่างต่อเนื่อง มีการตรวจสภาพรถอย่างจริงจัง หรือในอนาคตอาจต้องคิดเรื่องกลไกภาษีรถยนต์ ปัจจุบันรถยิ่งเก่าอัตราการเก็บภาษียิ่งถูก และเป็นตัวก่อมลพิษ ในต่างประเทศกลับกัน รถยิ่งเก่ายิ่งแพง เพราะเก็บภาษีแพง จึงมีการปลดระวางรถเก่าเร็วขึ้น ซื้อรถใหม่แทน ฉะนั้น กลไกภาษีนี้ ในเชิงเศรษฐศาสตร์ควรนำมาใช้เพื่อส่งผลที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม การะจัดระเบียบการจราจรให้มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งจัดระบบการเชื่อมโยงจราจรครบวงจร และสิ่งสำคัญ การยกระดับค่ามาตรฐานฝุ่นละออง ซึ่งองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ค่าอันตรายควรไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่ไทยมาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยไทยต้องปรับค่ามาตรฐานให้มีความเข้มข้นมากขึ้น วางแผนเป้าหมายที่ชัดเจน -ปัญหาฝุ่น ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจหรือไม่ กระทบการท่องเที่ยวอย่างนแน่นอน เช่น เชียงใหม่ พบว่า การท่องเที่ยวเริ่มซบเซา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวภายในประเทศ มีการยกเลิก หรือชะลอการท่องเที่ยวทางภาคเหนือ ในระยะสั้นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ อาจยังไม่กระทบมากนัก เพราะมีการวางแผนระยะยาว แต่ปีหน้าถ้าปัญหาฝุ่นยังไม่ได้รับการแก้ไข จะกระทบกับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอย่างหนัก เพราะเริ่มมีความตระหนัก และข้อมูลไม่สามารถปกปิดได้ มีเครื่องตรวจวัดมลพิษทุกที่ ดังนั้น การท่องเที่ยวซึ่งเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจไทย อาจจะถูกกระทบอย่างรุนแรง -ควรศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาของจีน อินดีย หรือฝั่งยุโรป เพื่อเป็นบทเรียน เห็นด้วย ที่จะต้องศึกษางานวิจัยของต่างประเทศ แต่สุดท้าย ต้องทำงานวิจัยของบ้านเราเองด้วย ไม่สามารถใช้งานวิจัยของต่างประเทศได้ทั้งหมด เพราะมีบริบทที่แตกต่างกัน แต่นำมาปรับให้สอดคล้องกับบ้านเรา และต้องศึกษาให้รอบคอบ หากนำไปใช้จริง อาจจะเกิดกระทบในวงกว้าง รวมทั้งต้องมีการติดตามประเมินผล หรือตัวชี้วัดทั้งระดับส่วนกลาง ท้องถิ่น และชุมชน อาจกำหนดบทลงโทษกับคนผู้กระทำผิด และให้รางวัลกับคนที่ทำดี อย่างไรก็ดี ต้องเร่งแก้ปัญหาภายใน 1 ปี ก่อนที่ปัญหาฝุ่นจะกลับมาอีกครั้ง เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงพวกเรา แต่กระทบเด็ก คนรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งเป็นกำลังของชาติในอนาคต ในเชิงเศรษฐศาสตร์คนแบ่งเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นปัจจุบัน กับรุ่นอนาคต ต้องมองถึงคนทั้ง 2 รุ่น