ตรวจสอบไม่พบมีการขึ้นทะเบียน ”Aural+” ทั้งอ้างหมอเป็นพรีเซนเตอร์พบเป็นตัวปลอม ขณะยาหยอดหู “JINGDU” ไม่พบขึ้นทะเบียนเช่นกัน แนะเซฟตัวเองโดยตรวจเลขอย.ก่อนซื้อ ป้องกันไม่ถูกหลอก เสี่ยงอันตราย! นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการกรณีมีผู้แอบอ้างเป็นแพทย์และการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน โดยโฆษณาจำหน่าย ยารักษาการสูญเสีย การได้ยิน Aural+ ของบริษัท Ravel อ้างข้อมูลเสนอความเห็นจากแพทย์ท่านหนึ่ง จากการตรวจสอบ เคยรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ Aural+ ทั้งสิ้น 6 เรื่อง เมื่อตรวจสอบไม่พบการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด และพบว่าเว็บไซต์ที่โฆษณาขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ปรากฏข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับผู้ขายที่อยู่ในประเทศไทย มีการจดทะเบียนโดเมนเว็บไซต์ในหลายประเทศ ส่วนวิธีสั่งซื้อจะต้องกรอกข้อมูลผู้ซื้อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อลงในเว็บไซต์ หลังจากนั้นจะติดต่อกลับจากผู้ขาย ซึ่งเบอร์โทรดังกล่าวไม่สามารถโทรกลับได้ วิธีการส่งสินค้าจะเก็บเงินปลายทาง นอกจากนี้ยังพบมีพรีเซ็นเตอร์ที่อ้างว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือเป็นแพทย์นั้น จากการตรวจสอบฐานข้อมูลของแพทย์สภา ไม่พบว่าเป็นแพทย์จริงแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังพบการขายและการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาหยอดหู “JINGDU” ทางเว็บไซต์ http://2122.yeahlucky.com/ ระบุ “...สารสกัดจากพืช สูตรธรรมชาติ หูอื้อ หูหนวก สูญเสียการได้ยิน...ยาหยอดหูแบรนด์ JINGDU สารสกัดจากพืช สูตรธรรมชาติ ...” ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีพฤติการณ์การกระทำผิดคล้ายกับกรณี Aural+ เช่น เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีทะเบียน มีการจดทะเบียนโดเมนเว็บไซต์ในต่างประเทศ และวิธีส่งสินค้าจะเก็บเงินปลายทาง เป็นต้น ทั้งสองกรณีดังกล่าว อย. ได้แจ้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงและจับกุมผู้กระทำผิดต่อไป เลขาธิการฯ กล่าวว่า อย. และราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์ ฯห่วงใยผู้บริโภคที่เป็นผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางหู จึงขอเตือนให้ผู้บริโภค ไม่ควรซื้อยาตามอินเทอร์เน็ต ผู้ขายมีความผิด และผู้ซื้อมีความเสี่ยง อาจได้รับยาปลอม ยาไม่มีคุณภาพ และผลข้างเคียงจากยาได้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนเลือกซื้อ ได้ที่ Application “ตรวจเลข อย.” เพื่อความมั่นใจหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail:[email protected] หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. ก.สาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000 หรือผ่าน Oryor Smart Application หรือ Line @FDAthai หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ