ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสารปนเปื้อนทางการเกษตร ทั้งสารกำจัดวัชพืช สารกำจัดแมลง และปุ๋ยเคมี ซึ่งล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค ดังนั้นสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้จัดตั้งโครงการ “ต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ KMITL” (The KMITL organic agriculture model) เพื่อพัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์ให้เกิดความยั่งยืน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า สถาบันฯ ที่มีความพร้อมในเรื่องงานวิจัยและเทคโนโลยีต่างๆ โดยคณะวิทยาศาสตร์ ได้ใช้แนวคิดด้านวิทยาศาสตร์นาโนเทคโนโลยีเคมี หรือ ด้านฟิสิกส์ และด้านคณิตศาสตร์ เข้ามาช่วยทำการเกษตรให้ปลอดสารและมีประสิทธิภาพสูง นำมาสู่การจัดตั้งโครงการ “ต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ KMITL” โดยใช้พื้นที่ ต.องค์พระ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี จำนวน 80 ไร่ เป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ให้กับผู้ที่สนใจ ตลอดจนเป็นสถานที่ฝึกงานให้กับนักศึกษา ในสถาบันฯ อันจะนำไปสู่การต่อยอดทำเป็นธุรกิจของตนเองในอนาคตได้ "นอกจากนี้ทางโครงการได้ตั้งร้าน KMITL organic shop คณะวิทยาศาสตร์ขึ้นภายใน สถาบันฯเพื่อนำผลผลิตเกษตรอินทรีย์มาจำหน่ายให้กับบุคลากรภายในองค์กรและผู้บริโภคที่ใส่ใจในด้านสุขภาพได้เลือกซื้อสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าผลผลิตทุกชิ้นเกิดจากความใส่ใจในแบบที่สถาบันฯ ใส่ใจในเรื่องของคุณภาพอย่างแท้จริง"ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตามสถาบันฯ ได้มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพของนักศึกษาอย่างเต็มที่ ปัจจุบันสถาบันฯ ได้รณรงค์ห้ามใช้โฟม และมีสายตรวจอาหาร ห้ามเค็ม ห้ามมัน ห้ามหวาน และห้ามแม่ค้าในโรงอาหารใช้น้ำมันซ้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุการเกิดโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ต่างๆ และยังสามารถลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตได้อีกด้วย ด้าน ผศ.ดร.สุพัตรา โพธิ์เอี่ยม หัวหน้าโครงการวิจัย อธิบายว่า เนื่องมีพื้นที่เพาะปลูก ต.องค์พระ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี จำนวน 600 ไร่ ได้กันพื้นที่ในการเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ของ KMITL จำนวน 80 ไร่ เริ่มแรกเข้าไปปรับปรุงดินโดยใช้สารชีวภัณฑ์จากผลงานการวิจัยของอาจารย์ใน KMITL ปลูกพืชผักเน้นความต้องการของตลาด และความต้องการของผู้บริโภค เช่น หน่อไม้ฝรั่ง กระเจี๊ยบเขียว ข้าวโพด มันม่วง มะม่วง มะเขือเทศ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง ที่สามารถนำมาแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปได้ "พืชผลที่ปลูกจะต้องดูความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆด้วย พืชผักบางชนิดปลูกไม่ประสบความสำเร็จในบางฤดูกาล เช่น คะน้า ขณะที่หน่อไม้ฝรั่ง ผลผลิตออกมาได้ตามมาตรฐานและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค ทั้งนี้ผลผลิตที่ปลูกนั้นได้รับรองมาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัยจาก อาจารย์เกษม สร้อยทอง สมาคมเทคโนโลยีการเกษตรภาคตะวันออกเฉียงใต้ อีกด้วย" ผศ.ดร.สุพัตรา กล่าว และว่า สำหรับการจำหน่ายผลผลิตนั้นส่งตลาดข้างนอก และอีกส่วนหนึ่งส่งจำหน่ายที่ร้าน KMITL Organic Shop ในสถาบันฯ ทั้งนี้ยังมีผลผลิตบางชนิดที่รับมาจากชุมชนในพื้นที่นำไปจำหน่ายในร้าน เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายอีกเรื่องหนึ่งของโครงการในการพัฒนาชุมชน ทั้งนี้ผลผลิตที่รับมาจากชาวบ้านนั้นมีการตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อให้ได้ผักที่ปลอดสารพิษ หัวหน้าโครงการวิจัย ทิ้งท้ายด้วยว่า ในอนาคตอยากขยายผลพื้นที่ดังกล่าวเป็นระดับธุรกิจของสถาบันฯ ในการค้าขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยใช้องค์ความรู้ที่มีหลายภาควิชา หลายคณะ นำมาบูรณาการเพื่อพัฒนาต่อไป อย่างไรตามโครงการดังกล่าวยังได้บูรณาการจากอาจารย์หลายคณะ เช่น คณะอุตสาหกรรมเกษตร โดย ผศ.ดร.นภัสรพี เหลืองสกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาทางอุตสาหกรรมอาหาร ที่เข้ามาต่อยอดการแปรรูปอาหารโดยนำมันม่วง ข้าวโพด และมะม่วง ที่ปลูกในแปลงเกษตรมาเป็นส่วนผสมในขนมเค้ก และเบเกอร์รี่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และยังใช้เป็นของที่ระลึกมอบให้ในโอกาสสำคัญ ขณะที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ธนารักษ์ จันทรประสิทธิ์ หัวหน้าภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม ได้เข้ามาออกแบบแบรนด์สินค้า ให้คำแนะนำในการตกแต่งภายในร้าน สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า และออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีความสำคัญ เนื่องจากผักเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ และระยะทางการขนส่งผลผลิตจากต่างจังหวัด ดังนั้นบรรจุภัณฑ์จะต้องทำหน้าที่ปกป้องดูเลสินค้าในแต่ละประเภท เช่น บางชนิดต้องการน้ำ บางชนิดต้องการออกซิเจนเพื่อช่วยให้ผลผลิตมีความสดใหม่เมื่อถึงมือผู้บริโภค