กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จับมือกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การดำเนินการเพิ่มคุณภาพการบริการด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล” เดินหน้าบูรณาการข้อมูลทางการแพทย์และสุขภาพ พัฒนาขีดความสามารถการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ จัดระบบความรู้สุขภาพให้ประชาชนรู้เท่าทันสุขภาวะได้ด้วยตนเอง พร้อมขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล เร่งสร้างสังคมคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การดำเนินการเพิ่มคุณภาพการบริการด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล” ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีประชาคมโลก โดยมีหน้าที่ให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงการบริการของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่มีความสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ซึ่งการให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชน ถือเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญที่กระทรวงฯ จะต้องเร่งดำเนินการตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีแนวทางความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการด้านการสาธารณสุขกับประชาชน ดังนั้น จึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการบูรณาการด้านข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ พัฒนาขีดความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ให้มีความปลอดภัยและเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนการใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาในระบบสุขภาพของประเทศร่วมกันได้ นอกจากนั้นเพื่อให้เกิดระบบการจัดการความรู้สุขภาพที่ช่วยให้ประชาชนรู้เท่าทันสุขภาวะได้ด้วยตนเองด้านการสร้างการรับรู้ด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล (Health Literacy) ซึ่งจะบูรณาการความร่วมมือจากทุกหน่วยงานด้านสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน และที่สำคัญยังเป็นการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ภายใต้มาตรการสำคัญในระยะต้น ได้แก่ การบูรณาการข้อมูลผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลกลาง โครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย ปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อมใช้งานของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งคุณภาพความเร็ว และความมีเสถียรภาพ ประกอบกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้มีโครงการขยายโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ไปยังชุมชนพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ การสร้างระบบ Tele-Medicine ให้ประสบความสำเร็จจึงสามารถดำเนินการได้โดย 1) ใช้เครือข่ายสารสนเทศภาครัฐ (Government Information Network: GIN) ในการสื่อสารข้อมูลภาพและเสียง 2) ใช้ระบบ VDO High definition (HD) ซึ่งมีความละเอียดสูงทั้งภาพและเสียง ช่วยให้แพทย์สื่อสารกันได้อย่างชัดเจน สนับสนุนให้การวินิจฉัยโรคมีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น และ 3) ดำเนินงานสอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการส่งต่อผู้ป่วย (Refer) จากโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ไปยังโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) และมีแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบในทุกขั้นตอนตลอดระยะเวลาที่ผู้ป่วยอยู่ในระบบการรักษา การพัฒนาระบบ Tele-Medicine ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะช่วยให้ลดปัญหาความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องตรงกันระหว่างแพทย์ทั้งสองโรงพยาบาล ด้วยการสื่อสารที่ชัดเจน รวดเร็ว ทันต่อการตัดสินใจที่มีผลต่อชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขของประเทศ อันจะส่งผลให้ประชาชนสุขภาพดี และเจ้าหน้าที่ผู้ให้การรักษาพยาบาลมีความสุข เป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการให้แก่ประชาชนในทุกระดับและครอบคลุมพื้นที่ห่างไกล ให้ประชาชนได้รับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ณ โรงพยาบาลชุมชน เสมือนรับการรักษา ณ โรงพยาบาลทั่วไป ทำให้การรักษาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ลดระยะเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อรับการตรวจรักษา นอกจากนั้นยังเป็นช่องทางพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ผ่านกระบวนการศึกษาทางไกลระหว่างแพทย์ประจำโรงพยาบาลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิกในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (eHealth Strategy) โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาทุนมนุษย์ด้าน eHealth และเทคโนโลยีสารสนเทศการจัดการความรู้ด้านการแพทย์และสุขภาพสำหรับประชาชน ที่มีกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาทรัพยากรบุคคลสาธารณสุขด้าน Health IT ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า พิธี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและแนวโน้มที่ดีในการขับเคลื่อนเศรษกิจและสังคมของประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพและการสาธารณสุข ที่จะได้ดำเนินงานร่วมกันแบบบูรณาการ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพให้กับโรงพยาบาล และหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ให้สามารถนำสารสนเทศสุขภาพที่อยู่ในระบบการรักษาพยาบาล ระบบการส่งเสริมป้องกันดูแลสุขภาพประชาชนทั่วประเทศนั้นมาสู่การวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีคุณภาพ สารสนเทศที่มีคุณภาพดี จะช่วยสนับสนุนให้บริหารจัดการระบบต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ รวมถึงองค์ความรู้และการสร้างการรับรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) สำหรับประชาชนเพื่อให้รู้เท่าทันสุขภาวะของตนเอง และสามารถดูแลตนเองไม่ให้กลายเป็นผู้ป่วยได้ กระทรวงสาธารณสุข มีความยินดีที่จะสนับสนุนความร่วมมือในทุกๆ เรื่อง ทั้งการผลักดันให้หน่วยงานในสังกัดฯ ใช้ประโยชน์จากระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (GIN) การใช้ศูนย์กลางบริการภาครัฐฯ (GovChannel) เป็นช่องทางส่งต่อบริการสาธารณสุขถึงประชาชน รวมถึงการผลิตเนื้อหาความรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบ Digital Literacy ของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือในการพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Tele-Medicine) ที่จะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่ที่เดินทางยากลำบากกว่าจะถึงโรงพยาบาล ให้ได้รับบริการที่ดีได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ที่สำคัญคือความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่สำคัญและมีบทบาทมากขึ้นในทุกวันนี้ เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันของคนทุกกลุ่มวัย ที่เรียกกันติดปากว่า Internet of Things ดังนั้น หากเราสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยลดการเจ็บป่วยของประชาชนได้ ก็เท่ากับช่วยลดต้นทุนของประเทศลงได้ ซึ่งการมีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจของประชาชน จะเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศไทย ให้มีเศรษฐกิจและสังคมที่ดีมีคุณภาพ เป็นส่วนสำคัญยิ่งในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการดำเนินการเพิ่มคุณภาพการบริการด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข และ EGA ครั้งนี้ บทบาทหน้าที่ของ EGA หลักๆ คือ การสนับสนุนระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (GIN) ให้ครอบคลุมโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 116 แห่ง ซึ่งการวางโครงสร้างพื้นฐานครั้งนี้นอกจากระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Tele-Medicine จะมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้นแล้ว ยังทำให้การเชื่อมโยงทุกระบบของโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปสามารถติดต่อในเครือข่ายเดียวกันอย่างสมบูรณ์แบบอีกด้วย รวมทั้งจะติดตั้งระบบสำรองและจัดเก็บข้อมูลกลาง (Storage and Backup) ขนาด 400 TB ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และอีก 400 TB ในปีงบประมาณถัดไป พร้อมด้วยแอปพลิเคชันในการบริหารจัดการ สำหรับสำรองข้อมูลผู้ป่วยและข้อมูลสำคัญของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนเพื่อรับ-ส่งต่อผู้ป่วย ส่วนการสนับสนุนอื่นๆ จะประกอบด้วยการจัดหาอุปกรณ์และโปรแกรม (Platform) ให้รองรับระบบ Digital Literacy เพื่อใช้เป็นระบบฐานข้อมูลกลางของประเทศในการรวบรวมองค์ความรู้การรับรู้ด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล (Health Literacy) สำหรับประชาชนในทุกรูปแบบ เช่น วิดีโอคลิป รูปภาพ เป็นต้น รวมถึงการเข้ามาปรับปรุงระบบ G-Chat หรือแอปพลิเคชันที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าให้สนับสนุนการสื่อสารสำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ นอกจากนั้น EGA ยังจะสนับสนุนระบบการประชุมทางไกลภาครัฐ (GIN Conference) เพื่อประยุกต์ใช้ในการทำระบบการแพทย์ทางไกล (Tele-medicine) เพื่อให้แพทย์และผู้ป่วยสามารถตอบโต้กันได้ทั้งภาพและเสียงในพื้นที่ต้นแบบระหว่างโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาประชาชน และยังสนับสนุนเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาทักษะความรู้ เพิ่มศักยภาพด้าน Data Scientists, Data Analyst, Enterprise Architecture และ Information Security ให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านไอทีของกระทรวงสาธารณสุข “การร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงดีอีในครั้งนี้ ถือเป็นการทำงานชิ้นใหญ่ ของ EGA ซึ่งเป็นการทำงานแบบ G to G to C ที่มีผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง เป็นทั้งการวางโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบ และวางแนวทางการพัฒนาระยะยาวรองรับแอปพลิเคชันใหม่ๆ ของกระทรวงสาธารณสุขที่จะเกิดขึ้น และยังจะสนับสนุนให้ทุกระบบของ สธ. เข้าสู่ศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน (GovChannel) ต่อไป” ดร.ศักดิ์ กล่าวสรุป