นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)   กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2562 นี้ ททท. ได้ส่งเสริมการจัดงานในพื้นที่ต่างๆ กระจายไปทั่วประเทศ โดยยังเน้นที่เมืองรองและเมืองหลักที่มีประเพณีสงกรานต์ที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นและมีความสนุกสนาน รวม 15 พื้นที่ ทั้งนี้ได้กำหนดจัดงานเทศกาลสงกรานต์ขึ้นใน 3 จังหวัดเมืองรอง ได้แก่ งานเทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2562 Amazing Songkran 2019@ Tak ศรัทธาสองแผ่นดิน ณ วัดไทยวัฒนาราม และสนามกีฬาสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก งานเทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ MUK-SAVAN Fun & Fin Festival 2019 ณ หาดมโนภิรมย์ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร และงานสงกรานต์น้ำแร่ ณ หน้าเทศบาลเมืองระนอง อำเภอเมือง จังหวัดระนอง นอกจากนี้ ยังมีอีก 12 พื้นที่ที่ ททท. สนับสนุนการจัดงาน ได้แก่กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดสุโขทัย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำปาง จังหวัดนครพนม จังหวัดหนองคาย จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสงขลา เป็นการกระจายนักท่องเที่ยวและเชื่อมโยงจากเมืองหลักสู่เมืองรอง คาดเงินสะพัดช่วงสงกรานต์ รวม 20,980 ล้านบาท เพิ่ม 10% จากปีก่อน           ด้าน นายนพดล  ภาคพรต รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. กล่าวถึงการจัดงานเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหารและระนอง ว่า ททท. ได้ดึงเอกลักษณ์ด้านพื้นที่และทรัพยากรมานำเสนอในการจัดงาน จังหวัดมุกดาหาร ใช้ชื่องาน “เทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ MUK-SAVAN Fun & Fin Festival 2019” ระหว่างวันที่ 12–16 เมษายน 2562 ณ หาดมโนภิรมย์ อำเภอหว้านใหญ่ ประกอบด้วย การจัดประติมากรรมทรายสื่อถึงภาพลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว 5 ภูมิภาค ได้แก่ ประติมากรรมทราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์และองค์พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช จังหวัดมุกดาหาร ประติมากรรมทรายภาคเหนือ คือ พระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ประติมากรรมทราย ภาคกลาง คือ อุทยานมังกรสวรรค์ พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร จังหวัดสุพรรณบุรี ประติมากรรมทราย ภาคตะวันออก คือ ผีเสื้อสมุทร จังหวัดระยอง รายล้อมด้วยผลไม้นานาชนิด (ต้อนรับฤดูกาลผลไม้) และประติมากรรมทรายภาคใต้ คือ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ ยังมีโซน Cool-Isan นำเสนออุโมงค์น้ำ อุโมงค์ร่ม เป็นต้น ส่วนการจัดงานพื้นที่จังหวัดระนอง ใช้ชื่องาน สงกรานต์น้ำแร่ จังหวัดระนอง ระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายน 2562 ณ ถนนเพิ่มผล หน้าเทศบาลเมืองระนอง อำเภอเมือง ประกอบด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ อุโมงค์น้ำแร่ ปลุกเสกน้ำแร่เพื่อความเป็นสิริมงคล ชิมอาหารถิ่น ทดลองทำผัดหมี่โบราณ นำเสนอเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาร่วมงานเสมือนได้อาบน้ำแร่พร้อม ๆ กับการฉลองเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งไม่เหมือนที่ใดในประเทศไทย   สำหรับ นางสุจิตรา จงชาณสิทโธ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากจังหวัดมุกดาหารและระนองแล้ว ททท. ยังได้จัดงานเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ ในพื้นที่จังหวัดตาก ซึ่งมีการผสมผสานทางวัฒนธรรมไทยและเมียนมา ภายใต้ชื่องาน เทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2562 Amazing Songkran 2019 @ Tak ศรัทธาสองแผ่นดินวันที่ 12–14 เมษายน 2562 ณ วัดไทยวัฒนาราม และสนามกีฬาสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นการนำเสนอความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมท้องถิ่นของสองประเทศ คือ วัฒนธรรมไทใหญ่กับวัฒนธรรมไทย-แม่สอด ผ่านการจำลองบรรยากาศงานประเพณีสงกรานต์โดยผสมผสาน 2 วัฒนธรรมเข้าด้วยกัน เน้นตกแต่งบรรยากาศแบบวัฒนธรรมไทใหญ่สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมที่วิจิตรของวัดไทย ประกอบด้วยกิจกรรม สรงน้ำพระสำคัญ ก่อเจดีย์ทราย ขบวนแห่สงกรานต์ ทดลองทำโคมไทใหญ่ โคมล้านนา และชมวิถีชนเผ่าด้วย รวมทั้งยังมีงานอีก 12 พื้นที่ทั่วประเทศไทย ทั้งนี้ ททท. คาดการณ์ว่าในช่วงเทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2562 (12–16 เมษายน 2562) นักท่องเที่ยวชาวไทยจะมีการเดินทางท่องเที่ยวทั้งสิ้น ประมาณ 3.1 ล้าน คน/ครั้ง เพิ่มขึ้น 3 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 10,697 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% ในขณะที่สถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่า จะมีการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประมาณ 546,000 คน เพิ่มขึ้น 8% สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 10,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14 % คาดว่า ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางเข้ามาของตลาดระยะใกล้ เช่น กลุ่มอาเซียน (มาเลเซีย สิงคโปร์ สปป.ลาว และเวียดนาม) จีน ไต้หวัน และอินเดีย โดยมาจากนักท่องเที่ยวกลุ่มอาเซียน 3 อันดับแรก คือ สิงคโปร์เพิ่มขึ้น 26 % มาเลเซียเพิ่มขึ้น 24 % และ เวียดนามเพิ่มขึ้น 22 % ขณะที่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ มีทิศทางเติบโตดีเช่นกัน ซึ่งคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวฮ่องกงเพิ่มขึ้น 26 % เกาหลีเพิ่มขึ้น 14 % และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 5%