ยังคงเป็น “ปัจจัยลบ” สร้างวิตกต่อบรรดากูรูด้านเศรษฐกิจทั่วโลก สำหรับ “สงครามการค้าโลก” โดยเฉพาะคู่สงครามระหว่าง “สหรัฐอเมริกา” กับ “จีนแผ่นดินใหญ่” ที่ไปๆ มาๆ การเจรจาเพื่อคลี่คลายยังไปไม่ถึงไหน นับตั้งแต่เปิดฉากข้อพิพาทมาเมื่อช่วงต้นปีก่อน และปรากฏการณ์แห่ง “เบร็กซิต” การออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปของอังกฤษ ก็ล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่อาจเป็นภัยพ่นพิษต่อเศรษฐกิจโลกตามความกังวลของเหล่าผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจทั้งหลาย ภาพตกแต่งแสดงเบร็กซิตกับผลกระทบเชิงลบกับเศรษฐกิจ โดยได้ส่งเสียงเพรียกเตือนอย่างเนืองๆ ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อให้บรรดาทางการของประเทศต่างๆ เตรียมการรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น ล่าสุด “ธนาคารพัฒนาเอเชีย” หรือ “เอดีบี” สถาบันการเงินที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนระบบเศรษฐกิจ และพัฒนาในกลุ่มประเทศ 45 ชาติของภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ซึ่งมีที่ตั้งของสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ ก็ได้ออกแถลงการณ์เป็น “รายงานแนวโน้มการพัฒนาเอเชีย” มาเตือนต่อเหล่าชาติสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา” อย่างเหล่าชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทยเรา เป็นต้น ว่า อาจจะได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัส จากพิษภัยของเหตุปัจจัยจากสงครามการค้าจีน – สหรัฐฯ และเบร็กซิต ที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญกัน ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี ในกรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ ถ้อยแถลงเตือนของเอดีบี ระบุว่า ผลพวงจาก “สงครามการค้าจีน – สหรัฐฯ” บวกกับ “เบร็กซิต” ที่ทอดยาวมาตั้งแต่ขวบปีที่แล้ว ก็จะพ่นพิษให้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในย่านภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก เกิดปรากฏการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลง เป็นปีที่สองในปีนี้ติดต่อกัน ภายหลังจากที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ว่า ได้เริ่มชะลอตัวมาตั้งแต่ช่วงปีก่อน คือ 2018 (พ.ศ. 2561) รายงานของเอดีบี ยังเผยเป็นตัวเลขด้วยว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในมวลหมู่สมาชิก คาดหมายว่า จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2019 (พ.ศ.2562) นี้ โดยรวมเฉลี่ยที่ร้อยละ 5.7 เท่านั้น ลดลงจากปี 2018 (พ.ศ.2561) ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ซึ่งขยายตัวไปที่ร้อยละ 5.9 และเมื่อเปรียบเทียบกับในปีก่อนหน้า คือ 2017 (พ.ศ. 2560) ก็ต้องบอกว่า ทิ้งห่าง ถ่างช่องว่างมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเติบโตกันไปถึงที่ร้อยละ 6.2 ทั้งนี้ ทางเอดีบี ยังระบุอีกว่า ตัวเลขร้อยละ 5.7 ของการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในปีนี้ที่เปิดเผยไปข้างต้น ก็น้อยกว่าที่คณะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ของทางเอดีบี เคยประมาณการกันไว้เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้วว่า จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.8 ด้วย ภายหลังจากบรรดากูรูดังกล่าว ได้ประเมินถึงผลกระทบของสงครามการค้าจีน – สหรัฐฯ และเบร็กซิต ที่มีต่อเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้กันใหม่ ส่วนสถานการณ์ของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพวกนี้ในปีหน้า คือ 2020 (พ.ศ. 2563) รายงานของเอดีบี ก็ยังเผยด้วยว่า น่าจะเติบโตเพียงในอัตราร้อยละ 5.6 เท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงตามการคาดการณ์ ก็ต้องถือเป็นตัวเลขที่ต้องบอกว่า ต่ำเตี้ยเรี่ยดินที่สุดนับตั้งแต่ปี 2001 (พ.ศ.2544) อันเป็นปีที่เกิดเหตุวินาศกรรมก่อการร้ายสะท้านโลก นั่นคือ เหตุการณ์ 11 กันยาฯ พร้อมกันนี้ แถลงการณ์ของเอดีบี ยังระบุแยกย่อยออกเป็นแต่ละภูมิภาคด้วย โดยหยิบยกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์เรา ขึ้นมาสะกิดเตือนต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเผยว่า ตัวเลขเฉลี่ยโดยรวมแล้ว ก็จะขยายตัวเพียงอัตราร้อยละ 4.9 สำหรับปีนี้ ส่วนปีหน้าจะเติบโตในอัตราร้อยละ 5.0 ซึ่งมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ได้รับการคาดหมายว่า จะขยายตัวน้อยกว่าที่ได้ประเมินกันไว้เมื่อครั้งก่อน จำเพาะในส่วนของไทย ในฐานะที่เกี่ยวข้องกับประเทศเราโดยตรง ก็ประมาณการว่า ในปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 3.9 และร้อยละ 3.7 ในปีหน้า ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่จะอยู่ระดับร้อยละ 1 ลากยาวไปในระหว่างปีนี้ถึงปีหน้าด้วย สิงคโปร์ ประเทศชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทางเอดีบี ระบุว่า จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากสงครามการค้าและเบร็กซิต เช่นกัน ในส่วนของ “จีนแผ่นดินใหญ่” พญามังกร ผู้เป็นคู่ต่อกรในการสัประยุทธ์สงครามการค้ากับ “สหรัฐฯ” นั้น ทาง “เอดีบี” ก็ประเมินเป็นการเฉพาะด้วยว่า ในปีนี้จะยังคงเติบโตในอัตราร้อยละ 6.3 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ “เอดีบี” เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนธ.ค.ปลายปีที่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ในปีหน้า พญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ ก็อาจขยายตัวเพียงร้อยละ 6.1 เท่านั้น โดยเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ของช่วงปี 2561 ก็ต้องถือว่า จีนมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลง เพราะในปีที่แล้ว มีตัวเลขการขยายตัวถึงร้อยละ 6.6 เศรษฐกิจของจีนที่ทางเอดีบี ประเมินว่า จะเติบโตลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยเหตุปัจจัยลบข้างต้น แม้กระทั่ง “องค์การการค้าโลก” หรือ “ดับเบิลยูทีโอ” ก็ยังวิตก โดยได้ออกมาประเมินสถานการณ์การค้าโลกโดยรวมว่า การค้าโลกในปี 2019 (พ.ศ. 2562) นี้ อาจเติบโตเพียงร้อยละ 2.6 เท่านั้น ลดลงจากเดิมที่เคยคาดการณ์กันไว้ว่า น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ซึ่งทางดับเบิลยูทีเอ บอกว่า ไม่ปลื้มอย่างมากๆ ที่ตัวเลขการค้าโลกโดยส่วนรวมอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าร้อยละ 3 หลังจากที่ออกอาการไม่ปลื้มมาแล้ว จากตัวเลขการค้าโลกเมื่อปีที่แล้ว คือ 2561 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 3 ต่ำกว่าเป้าที่ได้ประมาณการไว้ที่ร้อยละ 3.9 แบบว่า ลดลงต่ำกว่าที่พยากรณ์ไว้เกือบร้อยละ 1 หรือ 1 เปอร์เซ็นต์ เพราะผลพวงจากปัจจัยลบดังกล่าว ที่พ่นพิษส่งผลกระทบอย่างเหลือร้าย