(3 เม.ย.62) สภากาชาดไทย ร่วมกับศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ จัดโครงการ “คลินิกเคลื่อนที่แบบสหสาขาวิชาชีพ”ปี 2562 ที่บริเวณชั้น 9 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ โดยมีนายธีรวัฒน์ วุฒิคุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานในพิธีเปิด โดยการจัดคลินิกเคลื่อนที่แบบสหสาขาวิชาชีพครั้งนี้ ได้นำทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ อาทิ ศัลยแพทย์ตกแต่ง ประสาทศัลยแพทย์ กุมารแพทย์ ทันตแพทย์ นักจิตวิทยา แพทย์ทางพันธุกรรม จักษุแพทย์ โสต ศอ นาสิกแพทย์ และนักแก้ไขการพูด ลงพื้นที่ตรวจคัดกรอง รักษาให้กับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและกะโหลกศรีษะอย่างครบวงจรโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรักษาที่กรุงเทพมหานคร ลดขั้นตอนการทำเอกสารส่งตัว ลดเวลานัดพบแพทย์เฉพาะด้านในแต่ละครั้ง แก้ไขความแออัดในโรงพยาบาล อีกทั้ง ยังเป็นการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ป่วยและครอบครัวให้อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะชนิดรุนแรงพบมากในต่างจังหวัด และในครอบครัวที่มีฐานะยากจน จากข้อมูลพบว่าในจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดในพื้นที่อีสานใต้ ส่วนมากจะพบความผิดปกติ เรื่อง ปากแหว่งเพดานโหว่ รองลงมาคือ ใบหูพิการผิดรูป โรคท้าวแสนปม และความผิดปกติของใบหน้าและกะโหลกจากอุบัติเหตุ ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์จรัญ มหาทุมะรัตน์ หัวหน้าศูนย์สมเด็จพระเทพรัตน ฯ กล่าวว่าศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ เป็นศูนย์เฉพาะทางด้านการแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะชนิดรุนแรง แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยใหม่และเก่าจากทั่วภูมิภาคของประเทศไทยเข้ามารับบริการการตรวจรักษาที่ศูนย์ฯ ประมาณกว่า 1,400 ราย จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาจากถิ่นทุรกันดารทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ถึงแม้ศูนย์ฯจะให้ความช่วยเหลือด้านค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาลในรายที่มีปัญหาค่าใช้จ่ายแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังพบปัญหาของระบบการส่งต่อผู้ป่วยตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดความล่าช้าในการที่จะได้รับการช่วยเหลือตามช่วงวัยและการดำเนินของโรค รวมถึงอัตราการรอคิวผ่าตัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นเวลานานเนื่องจากข้อจำกัดของห้องผ่าตัดที่ต้องใช้กับผู้ป่วยหลายแผนก ศูนย์ฯ จึงได้เริ่มดำเนินการส่งศัลยแพทย์ไปผ่าตัดตามโรงพยาบาลจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ถึงกระนั้นการแก้ไขปัญหาก็ยังได้ไม่มากพอ ศูนย์ฯ จึงได้มีแนวคิดใหม่เพื่อให้ผู้ป่วยที่อยู่ในถิ่นที่ห่างไกลได้เข้าถึงการบริการตรวจรักษาให้มากขึ้น จึงได้ดำเนินโครงการคลินิกเคลื่อนที่เต็มรูปแบบขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 ที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องด้วยการบริหารที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนโดยเน้นการให้บริการรักษาพยาบาล และปีนี้เป็นปีที่สองที่ดำเนินการ มีผู้ป่วยในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์และจังหวัดใกล้เคียงในภาคอีสานตอนล่างเข้าร่วมโครงการ 112 คน