“เผย ร่าง พรบ. ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. .... อุดช่องว่างที่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับเดิม ช่วยเจ้าหน้าที่ทำงานสะดวกและรวดเร็วขึ้น ผู้ถูกกระทำความรุนแรงได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ส่วนผู้กระทำความรุนแรงมีบทลงโทษทางอาญา และมีมาตรการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2562 เวลา 09.30 น. ณ โรงแรมปรินซ์ตัน ปาร์ค สวีท ดินแดง กรุงเทพ นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. .... ในการประชุมเวทีวิชาการ “เครือข่ายวิชาการครอบครัวศึกษา” ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และเครือข่าย โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยอธิบดี สค. ได้กล่าวถึง เจตนารมณ์ในการตรา ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองครอบครัวฉบับใหม่นี้ โดยต้องการจะปิดช่องว่างของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 โดยพรบ.ฉบับใหม่ ได้ยกเลิกความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวที่สามารถยอมความได้ แต่ให้มาใช้เป็นคดีอาญาและดำเนินการควบคู่ไปกับการคุ้มครองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งจะทำให้ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวเกิดความเกรงกลัวและยับยั้งไม่กระทำผิดซ้ำ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีข้อดีและให้ประโยชน์แก่ประชาชนได้มากกว่า พรบ.ฉบับเดิม เช่นการกระทำความรุนแรงในครอบครัวถือเป็นความผิดทางอาญา และผู้ที่กระทำความรุนแรงในครอบครัว ต้องรับผิดทั้งทางอาญา และเข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม “เป็นการทำผิดครั้งเดียวรับผิดสองทาง” ซึ่งจะทำให้ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวเกิดความเกรงกลัวและยับยั้งไม่กระทำผิดซ้ำ และมีกลไกการดำเนินงานครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ระดับชาติ ระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น และกำหนดให้ผู้ใดพบเห็นหรือทราบการกระทำ ให้แจ้งต่อหนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ร่าง พ.ร.บ. นี้กำหนด ทำให้ตำรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ และผู้ที่กระทำความรุนแรงทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถกล่าวโทษเป็นคดีอาญาได้ทันที และให้ผู้กระทำความรุนแรงสามารถเข้ารับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งหากฝ่าฝืนคำสั่ง ศาลเยาวชนและครอบครัวสามารถสั่งขังได้ ซึ่งใน พรบ.ฉบับไม่ได้มีกำหนดไว้ สิ่งสำคัญเมื่อ พรบ.ฉบับใหม่นี้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว เครือข่ายทุกภาคส่วน กลไกการดำเนินงานในทุกระดับต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความถูกต้องและเข้มแข็ง และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน