“ประธาน กกต.” ติวเข้มคณะอนุวินิจฉัยคดีเลือกตั้ง ชี้ต้องเป็นกลาง-อย่าหวั่นไหวต่อแรงเสียดทาน ยอมรับทำงานอาจไม่ถูกใจทุกคน ด้าน “ปกรณ์” กกต.แจงกฎหมายบังคับให้ กกต.ต้องไม่นับคะแนนบัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์ เปรียบเหมือนส่งชิงโชคหลังจับรางวัลไปแล้ว เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 เม.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมมอบนโยบายในการประชุมชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการของคณะอนุกรรมการวินิจฉัยปัญหาและข้อโต้แย้ง โดยนายอิทธิพร กล่าวว่า สำหรับอนุกรรมการที่ กกต.ตั้งขึ้นเป็นบุคคลที่มีความเป็นกลาง มีความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งการจัดประชุมชี้แจงในวันนี้ เพื่อเป็นการซักซ้อมการปฏิบัติงานให้มีเอกภาพ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่ง กกต.มั่นใจว่าจากความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของแต่ละคนจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี การเลือกตั้งที่ผ่านพ้นไป สังคมคาดหวังมายัง กกต. โดยอยากทราบผลการเลือกตั้งอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็อาจจะไม่ได้รวดเร็วทันใจ ตามที่หวัง เพราะเราต้องทำหน้าที่ด้วยความรอบคอบถูกต้อง ด้วยความสุจริต ด้วยความเที่ยงธรรมและชอบด้วยกฎหมาย สำหรับแนวทางการทำงานที่จำเป็น และหลักการทำงานที่เห็นว่าจำเป็นที่จะใช้ในการทำงานของทุกคน โดยการทำงานต้องมีคุณภาพ คุณธรรม และความรวดเร็ว คุณภาพคือมีความรู้รอบด้าน ถูกต้องครบถ้วน มีมาตรฐานในเนื้อหาสาระของงานที่ทำ ส่วนคุณธรรมคือความเป็นกลาง ปราศจากอคติ กล้าหาญ ยึดความถูกต้องตามตัวบทของกฎหมาย บนพื้นที่ฐานของหลักนิติธรรมคือหลักความเป็นธรรมตามกฎหมาย ไม่หวั่นไหวต่อแรงเสียดทาน หรืออำนาจอิทธิพลใดๆ หากทำได้เช่นนี้ ก็ขอให้มั่นใจว่า คุณธรรมจะเป็นเกราะป้องกันตัว และองค์กร กกต.ก็จะสนับสนุนปกป้องการทำงานของท่านอย่างเต็มที่ ส่วนคำว่ารวดเร็วคือไม่ล่าช้า ทำเสร็จตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะความล่าช้าคือ ความอยุติธรรม ด้านนายปกรณ์ มหรรณพ กกต. กล่าวชี้แจงเรื่องบัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์ว่า เรามีคำตอบ ขั้นตอนต่างๆ เรามีหมด และกำลังจะตรวจสอบขั้นตอนสุดท้ายว่าทำอะไรบกพร่องหรือไม่ และเป็นความรับผิดชอบของใคร ซึ่งในมาตรา 114 ของ พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. เงื่อนไขมีอยู่ 4 ข้อ แต่ข้อที่ต้องพิจารณามีข้อเดียว ซึ่งเป็นข้อที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก แต่เราไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจได้ เงื่อนไขคือให้เรามีอำนาจสั่งเมื่อบัตรเลือกตั้งไปถึงหน่วยเลือกตั้ง หลังจากมีการนับคะแนนแล้ว เราจึงจะสั่งได้ว่าเป็นบัตรเสีย แต่กรณีนี้บัตรไม่ได้ไปถึง และการนับได้จบสิ้นแล้ว “ท่านนึกถึงการเลือกตั้งต่างๆ และการส่งชิงโชคต่างๆ เมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว บัตรต่างๆ เอกสารต่างๆ ที่ส่งมาใช้สิทธิ ท่านจะมาขอให้นับ เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วนั้น มันนับไม่ได้ เราจึงวินิจฉัยเช่นนี้ เราไม่ได้วินิจฉัยว่าเสียหรือดี ถ้าเราวินิจฉัยว่าเสีย ฝ่ายดีก็จะยกขึ้นมาอ้าง ว่าขอให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ถ้าวินิจฉัยว่าดี ฝ่ายเสียก็จะยกขึ้นอ้าง อันนี้เป็นสิ่งที่สังคมรับรู้ จุดประสงค์เค้าเป็นอย่างนั้น” นายปกรณ์ กล่าวและว่าในวันเลือกตั้งหลังการลงคะแนน 2-3 ชั่วโมง เรานับคะแนนทุกหน่วยเรียบร้อย ประกาศหน้าหน่วยกว่า 92,000 หน่วย ส่วนกรณีบัตรเกิน 4 ล้านกว่าใบนั้น ขณะที่ กกต.แถลง โดยระบบแรพพิดรีพอร์ต ขณะนั้นเวลาประมาณ 21.00 น. ข้อมูลเพียงร้อยละ 93 ขาดอยู่ร้อยละ 7 ของประมาณ 30 ล้าน เหลืออีก 2 ล้านกว่าคน ยังไมได้ประกาศ เมื่อจากหน่วยมาถึงเขต เขตต้องนำเอาต่างประเทศแสนกว่าคน เลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 17 มี.ค.อีกกว่า 2 ล้านคนมารวม เมื่อรวมกันทั้งหมดคือ 4 ล้านเศษ ไม่มีการเพิ่มบัตรอะไรเข้าไปทั้งสิ้น นี่คือความจริง การที่มีกรรมการประจำหน่วย (กปน.) กว่า 7 แสนคน ทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ชาวบ้าน ครู ฝ่ายปกครอง มาช่วย กกต.ทำหน้าที่ อาจจะผิดบ้าง 10 คน 100 คน นี่คือสิ่งที่ กกต.กำลังจะตรวจสอบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เที่ยงธรรม นายปกรณ์ ยังย้ำอีกว่ากฎหมายกำหนดให้ กกต.ต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.พร้อมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 หรือ 333 เขต หาก กกต.ไม่ทำตามกฎหมาย เราก็จะผิด