หนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงอัตลักษณ์คือ “งานศิลปหัตถกรรม” โดยเฉพาะในอาเซียน แม้ว่ารูปแบบงานทางศิลปหัตถกรรมจะมีความละม้ายคล้ายกัน ทว่าเมื่อลงลึกในรายละเอียดจะพบว่าผลงานแต่ละชิ้นกลับซ่อนความแตกต่างที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของแต่ประเทศได้อย่างน่าทึ่ง ดังเช่นงานหัตถกรรม “เครื่องไม้” อัมพวัน พิชาลัย  ถ่ายภาพที่ระลึกกับคณะผู้บริหาร และครูช่างไทย-ครูช่างลาว เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT นำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านหัตถศิลป์ในวัฒนธรรมร่วม ภายใต้ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในวัฒนธรรมร่วม” ประจำปี พ.ศ. 2562 (Cross Cultural Crafts 2019) เพื่อต่อยอดงานหัตถศิลป์ไทยผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างช่างฝีมือไทยและช่างฝีมือในประเทศเพื่อนบ้าน ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมี อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เป็นประธาน และ ดร.ไมสิง จันบุดดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติ ส.ป.ป. ลาว ให้การต้อนรับ อัมพวัน พิชาลัย  -  ดร.ไมสิง จันบุดดี จุดเด่นของ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในวัฒนธรรมร่วม หรือ Cross Cultural Crafts” อยู่ที่ เป็นโครงการที่สร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ รวมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาและสืบสานให้งานศิลปหัตถกรรมที่กำลังจะเลือนหายให้คงอยู่ ด้วยการเชื่อมโยงผู้ที่มีทักษะสูงและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างกลุ่มครูช่างและทายาท เข้ากับช่างฝีมือของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและอาเซียน ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี ภายใต้แนวคิด “Revival of the Forgotten Heritage” โดยได้ริเริ่มฟื้นฟูงานหัตถศิลป์ที่ใกล้สูญหายในภูมิภาค อาทิ งานเครื่องรักและเครื่องเขิน งานดุนโลหะ งานเครื่องมุกและงานจักสาน ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรระหว่างประเทศในอีกหลายๆ ประเทศ  ครูบัวเลิศ เฉลิมฤกษ์ (ครูช่างไทย)  ถ่ายทอดความรู้ “เรือขุด” แก่ช่างลาว สำหรับในปี 2562 โครงการฯ มุ่งเน้นการพัฒนางานหัตถกรรม “เครื่องไม้” โดยได้ดำเนินงานร่วมกับประเทศที่มีความเชี่ยวชาญงานหัตถกรรมไม้ทั้งแบบคลาสลิกและแบบร่วมสมัย ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีมรดกภูมิปัญญางานหัตถกรรมไม้ที่มีเอกลักษณ์และมีรากฐานทางวัฒนธรรมร่วมกับประเทศไทย ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะก่อให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบร่วมกันระหว่าง 3 ประเทศ จำนวนไม่น้อยกว่า 20 รูปแบบ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงทักษะและองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อพัฒนางานหัตถกรรมไม้ที่ใกล้สูญหายให้เกิดมีมูลค่าเพิ่มจนสามารถพัฒนาสู่ตลาดสากลต่อไป  อัมพวัน พิชาลัย  - พิสิด ไชยะทิด และคณะครูช่าง อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เผยว่า ลาวมีทักษะในการแกะสลักไม้เนื้อแข็ง เช่น พะยูง ชิงชัน และไม้หอมต่างๆ ในขณะที่ไทยมีทักษะในการแกะสักไม้เนื้ออ่อน เช่น สัก ซึ่งทักษะการแกะสลักไม้เนื้อแข็งกับไม้เนื้ออ่อนต่างกัน ในครั้งนี้นอกจากครูช่างไทยและครูช่างลาวจะได้แลกเปลี่ยนทักษะกันแล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องของเครื่องมืออีกด้วย เช่น “เรือขุด” และ “งานฉลุไม้” ซึ่งเป็นงานแกะสลักไม้ที่ลาวไม่มี ครูช่างไทยก็ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อแลกเปลี่ยนให้แก่ช่างลาว โดยในการแลกเปลี่ยนนี้ยังได้ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างบุคคลขึ้น ซึ่งเป็นความเชื่อมโยงที่ลึกกว่าการแลกเปลี่ยนแค่องค์ความรู้เท่านั้น ส่วนองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการต่างๆที่ SACICT ทำ จะบันทึกไว้ในอาร์ไคฟ์ (Archive) เพื่อจะได้เห็นความแตกต่างของงานศิลปะที่แตกต่างกันแต่ละประเทศ ได้เห็นว่าการทำงานในการสร้างหรือพัฒนาคนที่เป็นครู มีองค์ความรู้อะไรบ้างที่เราได้มอบให้ ซึ่งเมื่อครูได้องค์ความรู้เหล่านั้นแล้ว ก็จะถ่ายทอดให้แก่เด็กรุ่นใหม่ เด็กรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้ในเบื้องต้นและสามารถนำไปต่อยอดได้” โครงการฯของเราแตกต่างกับหน่วยงานอื่นๆคือ ครูที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องสร้างชิ้นงานและนำผลงานไปจัดแสดง พร้อมกับอธิบายว่าอะไรคือเทคนิคที่ผสมผสานขึ้นจากการเรียนรู้ และครูยังต้องแบ่งปันองค์ความรู้เหล่านั้น ให้กับคนอื่นด้วยซึ่งเป็นพันธะสัญญาต่อกันที่ว่า ต้องแบ่งปันองค์ความรู้เหล่านั้นให้แก่คนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น นิสิต-นักศึกษา ทายาท หรือคนในชุมชน โดยผลงานของครูจะนำไปจัดแสดงอีกครั้งเดือนมิถุนายน ในงาน SACICT Craft trend show ซึ่งปีนี้เป็นปีแรก ที่จะรวมงานที่มีการผสมผสานระหว่างไทยกับต่างชาติ และงานนวัตกรรมต่างๆไว้ในที่เดียวกัน” อัมพวันกล่าวทิ้งท้าย โอกาสนี้ครูช่างไทยและครูช่างลาวที่เข้าร่วมโครงการฯ ยังได้ร่วมศึกษางานหัตถกรรม ณ Vinetiane Museum Of Contemporary Art โดย พิสิด ไชยะทิด ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์แกะสลักไม้ สถานที่ท่องที่ยวแห่งใหม่ ซึ่งรวบรวมผลงานแกะสลักไม้ กว่า 30,000 ชิ้น โดยศิลปินจีน นอกจากนี้ยังมีผลงานจิตรกรรมจากศิลปินลาวที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตและประเพณีของชาวลาวให้ชมอีกด้วย นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่น่าจับตาใน “ปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน” ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการสร้างเครือข่ายด้านงานศิลปหัตถกรรมในภูมิภาคเอเชียและอาเซียนให้เข้มแข็งเพื่อก้าวไปสู่ระดับโลก