สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์ เทคนิคการหาขั้วฟ้าใต้ (Southern Cross and The Pointer) โดยระบุ “ในช่วงนี้เริ่มมีกระแสการเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศทางซีกฟ้าใต้กันค่อนข้างเยอะ เช่น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งหากใครที่มีโอกาสได้ไปเที่ยวก็อาจหาเวลาช่วงกลางคืนลองถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าทางซีกฟ้าใต้กันได้ครับ ซึ่งวัตถุทางซีกฟ้าใต้ก็มีหลายวัตถุท้องฟ้าที่ประเทศทางซีกฟ้าเหนือไม่มีโอกาสได้เห็นหรือรู้จักกัน (ภาพข้างบน เป็นภาพถ่ายจากบริเวณหอดูดาว Springbrook Observatory ที่ตำแหน่งละติดที่ 31 องศาใต้ ประเทศออสเตรเลีย) ยกตัวอย่างเช่น การถ่ายภาพทางช้างเผือก โดยประเทศทางซีกฟ้าใต้จะสามารถเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือกได้ง่ายและอยู่ในมุมเงยที่สูงจากขอบฟ้ามากกว่าประเทศทางซีกฟ้าเหนือ และนอกจากแนวใจกลางทางช้างเผือกแล้ว ยังมีวัตถุอื่นๆ เช่น เมฆแมกเจลเลนใหญ่ และเมฆแมกเจลเลนเล็ก Small and Large Magellanic Clouds (SMC and LMC) ซึ่งประเทศไทยเราแทบมองไม่เห็น เพราะอยู่ใกล้ขั้วฟ้าใต้ (***สำหรับประเทศไทย ขั้วฟ้าใต้จะอยู่ต่ำกว่าขอบฟ้า) หรือแม้แต่กระจุกดาวทรงกลม Omega Centauri (NGC 5139) เนบิวลาที่ใกล้กับกลุ่มดาวกางเขนใต้ ก็สังเกตเห็นได้ง่ายเช่นกัน  ภาพถ่ายทางช้างเผือกบริเวณซีกฟ้าใต้ ที่สามารถถ่ายภาพทั้งกาแล็กซีทางช้างเผือก และเมฆแมกเจลเลนใหญ่ และเมฆแมกเจลเลนเล็ก   การหาตำแหน่งขั้วฟ้าใต้ ตัวอย่างการลากเส้นสมมุติของกลุ่มดาวกางเขนใต้ ตัดกับการลากเส้นสมมุติตั้งฉากกับดาวสว่างของกลุ่มดาวคนครึ่งม้า ในการหาตำแหน่งขั้วฟ้าใต้นั้น ไม่ง่ายเหมือนกับขั้วฟ้าเหนือที่มีดาวเหนือ (Polaris) เป็นจุดอ้างอิง แต่อย่างไรก็ตามเราก็สามารถใช้กลุ่มดาวที่อยู่ใกล้เคียงในการช่วยหาตำแหน่งคร่าวๆ ของขั้วฟ้าใต้ได้ จากภาพด้านบนนั้นเราจะใช้กลุ่มดาวกางเขนใต้ (Southern Cross) กับดาวสว่างในกลุ่มดาวคนครึ่งม้า คือ ดาวอัลฟา เซนทอรี (Alpha Centauri) ดาวอัลฟา เซนทอรี (Alpha Centauri) โดยการลากเส้นสมมุติจากปลายกางเขนใต้ ไปตัดกับเส้นสมมุติที่ลากเส้นตั้งฉากกับดาวสว่างของกลุ่มดาวคนครึ่งม้า ก็จะเป็นบริเวณที่ใกล้เคียงกับขั้วใต้ของท้องฟ้านั่นเอง ตัวอย่างการลากเส้นสมมุติของกลุ่มดาวกางเขนใต้ ตัดกับการลากเส้นสมมุติตั้งฉากกับดาวสว่างของกลุ่มดาวคนครึ่งม้า   การทำ Polar Alignment บริเวณขั้วฟ้าใต้  จากภาพข้างบน จะเห็นว่าบริเวณที่เป็นจุดตัดของการลากเส้นสมมุติบนท้องฟ้าเพื่อหาตำแหน่งขั้วฟ้าใต้ ก็ยังไม่ตรงกับขั้วฟ้าใต้มากนัก ดังนั้นในการทำ Polar Alignment ให้ถูกต้องหรือใกล้เคียงมากที่สุดนั้น ภายในช่องมองภาพของกล้อง Polar Scope จึงมีตำแหน่งของดาว Polaris Australis ที่ใช้ในการอ้างอิง ซึ่งจะเป็นกลุ่มดาวรูปสี่เหลี่ยมคางหมู่ ที่อยู่ในกลุ่มดาวออกแทนต์ (Octant) ที่ใช้ในการอ้างอิง ภายในช่องมองภาพ Polar Scope จะมีกลุ่มดาวสี่เหลี่ยมคางหมู ในกลุ่มดาวออกแทนต์ (Octant) ที่ใช้ในการอ้างอิงในการทำ Polar Alignment  ดังนั้นหากใครที่มีโอกาสเดินทางไปประเทศทางซีกฟ้าใต้ แนะนำติดอุปกรณ์ถ่ายภาพไปลองเก็บภาพวัตถุท้องฟ้า หรือกลุ่มดาวต่างๆ ทางซีกฟ้าใต้กันได้นะครับ และหากใครที่มีอุปกรณ์ตามดาวแบบพกพา ก็ลองนำเทคนิคการทำ Polar Alignment ไปลองใช้ดูได้ครับ รับรองว่าภาพถ่ายทางซีกฟ้าใต้นั้นยังมีอะไรอีกมากมายให้นักถ่ายภาพดาราศาสตร์ได้ถ่ายกันอีกเยอะแยะมากกมายแน่นอนครับ”