ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] นายผาย สร้อยสระกลางน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดำเนินชีวิต (1) “เอ้า...นี่มาดูปลามาจับปลาเอาไปกินได้เลย...แหทอดลงไปเลย มีปลาพอ...”พ่อผาย สร้อยสระกลางแห่งบ้านสระคูณ ตำบลโคกล่าม อำเภอลำปลายมาศเอิ้นบอกเพื่อนๆพี่น้องบ้านใกล้เคียงให้มาจับปลาในบ่อที่ขุดไว้ด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเอง เป็นความทรงจำที่ไม่เคยลืมของพ่อผายหรือครูผายที่มีใครหลายคนเผลอเรียกบ้างบางครั้งหยิบยกมาเล่าขานสู่ผู้ไปเยือนถึงบ้านบ้านพ่อผายที่รอบๆตัวบ้านมีธรรมชาติสองอย่างหลักคือต้นไม้นานาพันธุ์ทั้งไม้ใหญ่ ไม้น้อย พืชผัก สมุนไพร แล้วก็แหล่งน้ำที่พ่อผายขุดไว้รอบเลยเป็นวงกลมก็ว่าได้ พ่อผายบอกใครต่อใครเสมอว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตรัสไว้มากมายว่าทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าไม้ น้ำ ดินคือแหล่งให้ประโยชน์กับสรรพชีวิต สำหรับมนุษย์แล้วขาดไม่ได้คือปัจจัย 4 อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัยล้วนอยู่ที่ป่าที่น้ำที่ดินทั้งสิ้น ไม่มีป่าก็ไม่มีน้ำ ไม่มีน้ำป่าก็เจริญงอกงามไม่ได้ชีวิตผู้คนสรรพสัตว์รวมถึงต้นไม้ก็เจริญงอกงามไม่ได้ ไม่มีป่าไม่มีน้ำดินก็เสื่อมโทรมไปด้วยเพราะความแห้งแล้งแล้วพ่อผายเองก็ฝังใจด้วยว่าแผ่นดินเกิดคือลำปลายมาศตั้งแต่จำความได้แห้งแล้งมาก ฝนตกน้ำท่วม หน้าแล้งไม่มีน้ำเพราะไม่มีแหล่งกักเก็บ น้ำฝนถึงจะมีมากแต่ก็ไหลผ่านไป ชีวิตความเป็นอยู่จึงแร้นแค้นเพราะผืนดินไม่อาจทำอะไรให้เจริญงอกงามได้เพราะขาดน้ำ พ่อผายจึงให้ความสำคัญกับป่ากับน้ำมาก คำพูดที่พ่อผายยกมาเล่าสู่กันข้างต้นเจ้าตัวบอกว่า ไม่ใช่เพื่อจะอวดตัวว่าที่บ้านมีคนอื่นไม่มี แต่ในช่วงเวลานั้นที่บ้านมีแหล่งน้ำ มีปลาที่ตอนหน้าแล้งได้ประโยชน์กับชีวิต ที่เกิดเพราะยึดหลักการดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เกิดเพราะลงมือทำด้วยความมานะอดทน ต้องมีความเพียรตามอย่างพระมหาชนกในพระราชนิพนธ์ ต้องมีความเพียงความอดทนตามรอยพระยุคลบาที่ทรงทำให้เห็นทุกวี่ทุกวันนับแต่เสด็จขึ้นครองสิริราชย์สมบัติตราบจนเสด็จสู่สวรรคาลัย ทรงอดทนหมั่นเพียรอย่างที่ประชาชนคนไทยไม่เคยเห็นถึงว่าจะทรงท้อเลยแม้แต่น้อย แล้วทรงทำทุกวัน เพราะทรงห่วงทรงรักราษฎรของพระองค์ ทรงทุ่มเทอย่างหนักหน่วงเพื่อสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนของพระองค์ตลอดเวลา 70 ปี นั่นพ่อผายว่า แหล่งน้ำ ต้นไม้ในพื้นที่ตัวเองที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจขุดเพื่อรอน้ำฝนเก็บกักไว้ จนมีหน้าไว้ใช้สอยบริโภคอุปโภค การเกษตรตลอดจนมีปลาเอาไว้กินด้วย พ่อผายมักย้ำเสมอว่าเมื่อมีแล้งต้องแบ่งปันหการแบ่งปันเอื้อเฟื้อเป็นคำสั่งสอนจากปู่ย่าตายายพ่อแม่ แล้วก็เป็นพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9 พระราชทานไว้ให้คนไทยได้ตระหนักยึดถือว่าต้องปลูกไว้ในสำนึกที่สำคัญสระน้ำที่มีปลาให้จับกินได้เพียงแห่งเดียวในนาเพราะสระที่ออกแรงขุดด้วยตัวเองเพื่อให้เพื่อนๆบ้านเห็นว่านี่เป็นสิ่งที่ทุกคนบันดาลให้เกิดเองได้ ช่วยตัวเองก่อนเมื่อช่วยได้ ช่วยให้หลุดพ้นจากความอดอยากยากจนได้ เพราะมีน้ำ พ่อผายบอกจะปลูกต้นไม้อะไรก็ได้ ตั้งแต่ทำนา ปลูกมะกรูด มะนาว มะพร้าว ส้มโอ ฟักแฟงแตงโมได้หมดเลย วันนี้จึงร้องไชโยโห่ฮิ้วได้อย่างมีความสุข ขอเรียกครูผายบ้างเพราะเป็นนิคเนมใหม่ที่ถูกเรียกขานตามหน่วยงานที่ประกาศยกย่องเชิดชูเป็น “ครูภูมิปัญญาไทย”คือสำนักงานคณะกรรมการสภาการศึกษา(สกศ.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ยกย่องชาวนาแห่งบ้านทุ่งสระคูณอำ ตำบลโคกล่าม อำเภอลำปลายมาศ ส่วนราชการเลือกเชิดชูพ่อผายหรือผู้ใหญ่ผาย เพราะเคยดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านมาแล้ว เพราะมีความสามารถเชี่ยวชาญพิเศษด้านอาชีพเกษตรผสมผสานด้วยยึดแนวทางภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายพ่อแม่แล้วก็ไปศึกษาหาประสบการณ์ความรู้ปรับปรุงประยุกต์ใช้เฉพาะอย่างยิ่งแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ยึดแนวพระราชดำริการรูจักพืชพันธุ์ไม้ต่างๆ ศึกษานิสัยใจคอต้นไม้ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี สร้างความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติไว้ในบ้านตัวเอง ในท้องถิ่นตัวเองแล้วยังแบ่งปันประสบการณ์ความรู้แนวทางให้เพื่อนบ้าน ให้ใครต่อใครที่สนใจโดยไม่หวงแหนปิดบัง ชาวบ้านจึงชื่นชมยกย่องว่านี่คือปราชญ์ของคนท้องไร่ท้องนา จนกิตติศัพท์ไปเข้าหูเข้าตาส่วนราชการอย่างสกศ.ตระหนักถึงคุณค่าความเป็นปราชญ์ชาวบ้านจึงยกย่องประกาศให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการที่จะได้เกื้อกูลชุมชนและชาติบ้านเมืองต่อไป สำหรับวันนี้ด้วยอายุอานามเกิน 80 ปีแล้วคนท้องถิ่นจึงเรียกว่า “พ่อใหญ่ผาย”หรือออกเสียงเหน่อคนอีสานว่า “พ่อไญ้”ประมาณนั้นนั่นเป็นคำบอกเล่าของครูผายให้ผู้ไปเยือนฟังพร้อมรอยยิ้มภาคภูมิใจ ข้างต้นที่เกริ่นนำมานั้นพ่อผายหรือครูผายได้จดจำไว้อย่างแม่นยำไม่เคยลืม แม้เวลาผ่านเลยมาแล้วหลายสิบปีแต่ก็จำได้แม่น จำแม่นเพราะเป็นเรื่องราวที่ทำมากับมือ กับความพยายาม มานะ อดทน จำแม่นเพราะในสำนึกบอกพ่อผายคราวรุ่นหนุ่มยุคนั้นว่า “น้ำ”เป็นหัวใจการทำเกษตรกรรม น้ำเป็นหัวใจที่ทำให้ชีวิตเจริญงอกงาม ทั้งต้นข้าว ทั้งพืชผัก ต้นไม้ ปลาและหรือสัตว์อื่นกบเขียด เป็ดไก่ หมู อยู่ได้ด้วยน้ำ สภาพที่พ่อผายจำไม่มีวันลืมคือนับแต่เกิดจำความได้ช่วงที่ยากลำบากที่สุดคือช่วงที่ไม่มีน้ำหรือหน้าแล้ง ทุกสิ่งอย่างยากลำบากไปหมดภาพที่ชักชวนเพื่อนบ้านมาใช้น้ำมาจับปลาในบ่อที่พ่อผายจำแม่นยำนักเพราะถ่ายทอดสู่ใครต่อใครสู่ลูกหลานครั้งแล้วครั้งเล่าบอกเล่าสู่คนไทยมากหลายผ่านฐานะครูภูมิปัญญาไทย โดยพ่อผายมักบอกลูกหลานเสมอๆว่า ถึงคนยกย่องเป็นครูแต่จริงๆก็คือพ่อผายหรือนายผายชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งนี่แหละภาพย้ำความจำพ่อผายอีกสิ่งหนึ่งที่ต่อเชื่อมยุคสมัยมิให้ลืมเลือนได้เลยคือ พ่อผายได้สร้างแหล่งน้ำในพื้นที่ของตัวเอง พื้นที่มรดกของชุมชนที่ใช้ร่วมกัน ตราบวันนี้พื้นที่ของพ่อผายเองมีแหล่งน้ำเป็นหัวใจสำคัญของพื้นที่รอบบ้าน แหล่งน้ำในพื้นที่ทำการเกษตร มองไปทางไหนก็เจอแต่แหล่งน้ำ พ่อผายบอกพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 ยังฝังตราตรึงอยู่ในความทรงจำ “น้ำคือชีวิต”ชีวิตอยู่ที่นั่น ทรงเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งที่นำพาตัวเองให้มุมานะอดทนสร้างแหล่งน้ำสร้างป่าทรัพยากรธรรมชาติจึงมีผู้คนให้ความยกย่องในวันนี้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ปราชญ์แผ่นดิน ปราชญ์แห่งแผ่นดินคำนี้เชื่อว่าผู้คนมักจะนึกภาพบุคคลที่มีองค์ความรู้ในตัวมาก รู้ในทุกเรื่องรอบตัว ไกลตัวถึงได้กลายเป็นปราชญ์หรือนักปราชญ์ แต่บางทีปราชญ์ก็คือบุคคลที่มีความปราดเปรื้องเพียงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเฉพาะเจาะจง ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีการศึกษาสูง ต้องรู้ไปทุกอย่างทุกเรื่อง บางครั้งชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งอาจจะเป็นปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของแผ่นดินก็เป็นได้ ดังคำพังเพยว่าไว้รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล คนที่รู้อย่างเดียวแต่รู้ลึกซึ้งนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตให้อยู่ดีมีสุขได้ แบ่งปันความรู้กระจ่างนั้น ให้แก่ผู้อื่นนำไปปรับใช้ดำเนินชีวิตจนนำพาชีวิตครอบครัวไปพบความสุขที่ยั่งยืนได้ ดำรงชีวิตบนพื้นฐานของคุณธรรมจริยธรรม แบ่งปันความรู้ประสบการณ์แก่ผู้อื่น ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นตามฐานะโอกาสผู้นั้นย่อมเป็นปราชญ์และสมควรที่จะได้รับการยกย่องเชิดชูได้ ...........................................................