การทำงานของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ไม่เพียงจะสร้างงานที่ลงลึกไปกว่าการดูแลโรคแล้ว แต่ยังลงลึกไปถึงการสร้างความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ป่วย ผู้ด้อยโอกาส และประชาชนจนเกิดผลงานเป็นที่ยอมรับ อันเป็นการสร้างความภาคภูมิใจและคุณค่าให้กับทีมงานที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับที่ อ.เมืองสมุทรสงคราม เทศบาลตำบลขุนหาญ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ และที่เกาะบุโหลม อ.ละงู จ.สตูล ที่มีการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไว้น่าสนใจ นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช นายอำเภอเมือง จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า การที่ตนมาดำรงตำแหน่งนายอำเภอตรงกับความฝันตั้งแต่เด็ก ที่อยากจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยได้ย้ายมาอยู่ที่ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ และได้ไปเจอทีมหมอครอบครัวได้เห็นถึงความโดดเดี่ยวในการทำงานอยู่ฝ่ายเดียว จึงเป็นสาเหตุที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดูแลคุณภาพชีวิต ซึ่งอำเภอเป็นส่วนหนึ่งของระบบกลไกที่อยู่ในพื้นที่จึงพยายามเชื่อมโยงทุกภาคีที่เกี่ยวข้องแต่ละภาคส่วน เป็นตัวขับเคลื่อนแรงจูงใจให้ทุกคนมาร่วม โดยใช้วัดตากฟ้าพระอารามหลวงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคน อ.ตากฟ้า "มีบูรณาการกับทุกภาคส่วน ลงมือทำให้ประชาชนเห็น ดึงท้องถิ่น ผู้นำ ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และประชาชนมาร่วมขับเคลื่อน มุ่งเน้นการสร้างศรัทธา สร้างความมุ่งมั่น และสร้างการมีส่วนร่วม มีการตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ยากไร้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ความเอื้ออาทร บางคนไม่มีเวลาแต่อยากส่งกำลังใจให้ทีมงานก็ส่งเป็นเงิน บางคนไม่มีเงินแต่มีเวลาก็ออกไปช่วยกันดูแลผู้ป่วย ผู้ยากไร้ โดยมีสโลแกนว่า "ตากฟ้าร่วมใจ ทุกคนมีสุขภาพดี" นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร กล่าว เมื่อย้ายไปอยู่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ใช้สโลแกน "กระทุ่มแบนไม่ทอดทิ้งใคร" มาอยู่ที่ อ.เมืองสมุทรสาคร ใช้สโลแกน "เมืองสมุทรสาครไม่ทอดทิ้งใคร" เช่นกันโดยใช้หลักการเดียวกับการทำงานที่ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ มีการสร้างกองทุน สร้างศูนย์อุปกรณ์โรงพยาบาลกงเปิดรับบริจาคโดยไม่เรี่ยไรเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ให้กับผู้ป่วย สำหรับเงินในกองทุนจะใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น เช่น ซื้ออุปกรณ์ราวจับหรือเป็นค่าแรงให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือจิตอาสา เพื่อไม่ให้เขานำเงินส่วนตัวมาใช้ ทั้งนี้จะไม่มีนำเงินกองทุนไปใส่ซองเพื่อไปเยี่ยมผู้ป่วย ด้านนายสิริดนย์ น้าวิไลเจริญ นายกเทศมนตรีตำบลขุนหาญ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่าเทศบาลตำบลขุนหาญทำเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการจัดการขยะที่ทำยากสุด เนื่องจากเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตอย่างหนึ่งที่สามารถต่อยอดไปทำเรื่องอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะชุมชนบ้านหนองแล้ง ที่จะต้องกางมุ้งในการทานข้าว เพราะมีปัญหาขยะ น้ำเสีย แต่หลังจากที่เราเอาปัญหาเข้าไปพูดคุย เขารับและช่วยกันแก้ปัญหา เริ่มจากการจัดการขยะในชุมชน โดยสร้างให้เขาเห็นถึงคุณค่าของขยะ นำขยะมาบริจาคเป็นผ้าป่าขยะ หรือนำมาขายและนำเงินมาซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ และอาหารเสริมเยี่ยมผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชน "สิ่งที่เห็นคือ คนในชุมชนมีความพร้อมที่จะดูแลตัวเอง แต่ไม่มีใครพาเขาเดินไป โดยที่ อ.ขุนหาญ มีนายอำเภอขุนหาญ ได้พูดคุยกับชาวบ้านว่าเจอปัญหาอะไรและหยิบปัญหาขึ้นมาแก้ไขและเดินไปด้วยกัน ซึ่งภาพที่เห็นคือ คนในอำเภอเดียวกันมองปัญหาเดียวกัน ทุกคนช่วยกันคิดวิธีการในแต่ละบริบทแต่ละหมู่บ้านของตนเองที่แตกต่างกัน ดังนั้นการที่จะคิดจากฐานขึ้นไปสู่ยอด จึงมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับ อ.ขุนหาญ ที่ใช้วิธีดังกล่าวและเกิดการเปลี่ยนแปลง จนได้รับรางวัลอำเภอสะอาด อันดับ 1 ของ จ.ศรีสะเกษ 2 ปี"นายกเทศมนตรีตำบลขุนหาญ กล่าว หลังจากทำเรื่องขยะประสบความสำเร็จจึงมาหยิบจับเรื่องสุขภาพ ถ้าคนร่วมกันดูแลซึ่งกันและกันโอกาสที่คนในพื้นที่มีสุขภาพดีก็เกิดขึ้นได้ มีการสร้างทีมงานขึ้นมา ในส่วนของ อสม.และบุคคลที่มีจิตสาธารณะมาทำงานร่วมกันทำงานในรูปแบบของระบบของสาธารณะสุข ขณะที่เทศบาลตำบลขุนหาญมีกองสาธรณสุขได้เข้าไปทำงานเชิงรุกในการเข้าไปสร้างความรู้ความเข้าใจให้คนตระหนักถึงปัญหาสุขภาพ โดยเพิ่มภาระกิจ “ปลอดขยะ ปลอดโรค ปลอดภัย ออกกำลังกายลดใช้พลังงาน” และเพิ่มลดเค็ม ลดมัน ลดหวาน ในการสร้างความตระหนักกับประชาชนว่า หากใช้ชีวิตเช่นเดิมอยู่ก็จะมีสุขภาพที่แย่ลง ขณะที่นายรอหีม หาญทะเล ผู้ดูแลสุขภาพเกาะบุโหลม อ.ละงู จ.สตูล เล่าว่า ชาวบ้านบนเกาะเป็นชาวอูรังลาโว้ย ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยตรวจสุขภาพ ตนได้บูรณาการประสานกับโรงพยาบาล อำเภอ และจังหวัด อบต.ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม.ในการแก้ปัญหาให้ชาวอูรังลาโว้เดินทางไปตรวจสุขภาพประจำปี เบื้องต้นให้ชาวบ้านมาตรวจสุขภาพบริเวณศาลาในหมู่บ้านที่ใช้ในการรักษาพยาบาล พบว่าส่วนใหญ่มีความดันสูง หลายคนอยู่ในภาวะเสี่ยง ช่วงแรกพาชาวบ้านทั้ง 70 คน ไปโรงพยาบาลทุกปี และปีที่ผ่านมาได้ให้โรงพยาบาลทำหนังสือส่งตัวชาวบ้าน แล้วประสานโรงพยาบาลทำช่องทางด่วนให้กับชาวบ้านบนเกาะเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจรักษา "สำหรับการส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล ซึ่งที่เกาะใช้การรีเฟอร์ผู้ป่วยโดยเรือ ต่างจากพื้นที่อื่นที่มีการใช้รถ กรณีทำคลอดอยู่บนเรือที่ไม่มีหลังคา ซึ่งและต้องอยู่กลางทะเล นานกว่า 1 ชั่วโมง เพราะไม่สามารถที่จะขึ้นบนฝั่งนำคนไข้ส่งโรงพยาบาลได้ หากพายุเข้าก็จะต้องอยู่กลางทะเล 3 ชั่วโมง  ซึ่งช่วงนั่นจะไม่สามารถติดต่อกับหมอเพื่อบอกอาการผู้ป่วยได้เลย ขณะที่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ต้องดูแลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา 18 ราย โดยมีเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียว" นายรอหีม กล่าว เราไม่ได้ทำงานเฉพาะรักษาคนในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังดูแลคนนอกพื้นที่โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งตนมีปัญหาเรื่องการสื่อสารจึงส่งข้อมูลให้หมอได้ไม่ได้จึงไปเรียนฝึกพูดภาษาอังกฤษและภาษาอินโดนีเซีย นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องการแปลภาษาชาวเลเป็นภาษาไทย ซึ่งคำแพทย์ของชาวเลไม่มี จึงมีอุปสรรคต่อการส่งข้อมูลให้คุณหมอ แต่ก็สามารถแก้ปัญหาผ่านพ้นมาได้ ซึ่งจากการปฏิบัติหน้าที่ของตนเด็กที่อยู่บนเกาะเห็นศักยภาพของเราและเป็นตัวอย่างให้เด็กบนเกาะไปเรียนต่อมากขึ้น