ยังยืดเยื้อ เพราะว่ายังยื้อยุดกันไม่หยุด สำหรับ “วิกฤติการเมือง” ที่พ่วงเอา “เศรษฐกิจ” เข้าไปด้วย ของ “เวเนซุเอลา” ประเทศถิ่น “สาวงาม” แห่งทวีปอเมริกาใต้ หรือละตินอเมริกา ที่กำลังดำเนินอยู่ ณ ชั่วโมงนี้ โดยเมื่อว่าถึงวิกฤติที่กำลังพ่นพิษในแดนสาวงามข้างต้น ก็ต้องบอกว่า สำแดงผลมาตั้งแต่ช่วงขวบปีที่แล้ว หรือถ้าจะว่ากันไป ก็สืบเนื่องสะสมกันมาจนหลายปีดีดักเป็นต้นมาแล้ว เริ่มจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำเป็นประวัติการณ์แบบทุกภาคส่วน ทั้งค่าครองชีพ ค่าเงิน อัตราการจ้างงาน จนประชาชนบางส่วน ได้ทะยอยอพยพกันออกนอกประเทศ ไปยังชาติบ้านใกล้เรือนเคียง อาทิ โคลัมเบียบ้าง บราซิลบ้าง เบิกร่องนำทางกันไปก่อนหน้า ก่อนมาเกิดวิกฤติทางการเมือง ที่เมื่อกันไป ก็มีอาการ “ไฟสุมขอน” กันมาหลายเพลาแล้ว ในบรรยากาศความขัดแย้งของฝ่ายค้าน กับฝ่ายรัฐบาล กระทั่งมาถึงเหตุการณ์ฟางเส้นสุดท้าย เมื่อช่วงเดือน ม.ค.ต้นปีนี้ ที่ปรากฏว่า เกิดการชิงกันเป็นนายใหญ่ใน “มิราฟลอเรส” อันเป็นนามแห่ง “ทำเนียบประธานาธิบดี” ในกรุงคารากัส เมืองหลวงของเวเนซุเอลา ระหว่าง “นายนิโคลัส มาดูโร” วัย 56 ปี เจ้าของตำแหน่งคนเดิมที่สืบทอดอำนาจแบบทายาททางการเมืองของอดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ (อูโก ชาเบซ) ผู้ล่วงลับ กับ “นายฆวน กัวอิโด” ผู้นำฝ่ายค้าน วัย 35ปี ซึ่งดำรงตำแหน่ง “ประธานสภานิติบัญญัติ” หรือ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” นั่นเอง เมื่อต่างฝ่ายต่างอ้างความชอบธรรม ประกาศขึ้นมาเป็น “ประธานาธิบดี” ปกครองประเทศ โดยทางฝ่ายนายมาดูโร อ้างว่า ตนเองชอบธรรมที่จะยึดเก้าอี้ประธานาธิบดี แบบ “ไปต่ออีกสมัย” เพราะชนะการเลือกตั้งมา นายนิโคลัส มาดูโร ขณะที่ ทางฟากนายกัวอิโด อ้างว่า นายมาดูโร โกงการเลือกตั้ง ซึ่งมีขึ้นช่วงปลายปีที่แล้วอย่างมโหฬาร จนสามารถนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีอย่างสกปรก พร้อมกันนั้น ก็ประกาศสถาปนาตนเองขึ้นดำรงตำแหน่ง “รักษาการประธานาธิบดี” หรือ “ประธานาธิบดีเฉพาะกาล” ทั้งนี้ นายกัวอิโด ยังได้อ้างตัวบทกฎหมาย ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 233 และมาตรา333 ด้วย "ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สามารถรับหน้าที่ประธานาธิบดีได้ หากตำแหน่งดังกล่าวว่างลง” ซึ่งการขึ้นมาของนายมาดูโร ถือว่า ไม่ชอบธรรม เพราะโกงการเลือกตั้งมา จึงเท่ากับตำแหน่งประธานาธิบดีได้ว่างลงแล้ว นายฆวน กัวอิโด ก่อนทั้งสองฝ่าย ระดมผู้ชุมนุม พร้อมยังลากเอา “กองทัพ” มาสนับสนุนฝ่ายตน แบบยุยงให้เป็น “กบฎ” ก่อ “รัฐประหาร”ยึดอำนาจจากอีกฝ่ายกันก็มี จนเกิดปรากฏการณ์ม็อบเดือดละเลงเลือดกลางถนน สืบจนถึงปัจจุบัน ใช่แต่เท่านั้น ทั้งสองฟากยังเหล่าชาติมหาอำนาจมาสนับสนุนฝ่ายตนด้วย โดยทางฝั่งนายกัวอิโด ได้มหาอำนาจชาติตะวันตก ซึ่งนำโดย “สหรัฐอเมริกา” เป็นหัวขบวน ร่วมไม้จับมือกับ “สหภาพยุโรป” หรือ “อียู” มาค้ำบัลลังก์ ด้วยการให้ยอมรับสถานภาพความเป็นผู้นำของเขา ส่วนทางฟากนายมาดูโร ก็ได้กลุ่มชาติมหาอำนาจอีกค่าย ภายใต้การนำของ “รัสเซีย” กับ “จีนแผ่นดินใหญ่” มาสนับสนุน ซึ่งในกลุ่มนี้ก็ยังมีชาติอื่นๆ มาร่วมทัพด้วย อย่าง “อิหร่าน” เป็นอาทิ ในปฏิบัติการของบรรดามหาอำนาจจากสองฟากข้างเหล่านี้ ก็มีเป็นประการต่างๆ ด้วยกัน เพื่อให้ผู้นำเวเนซุเอลา ที่ฝ่ายตนถือหาง นั่งบนบัลลังก์ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาต่อไปอย่างได้เปรียบ ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การเข้าไปช่วยเหลือซื้อน้ำมันจากเวเนซุเอลา หรือแม้กระทั่งการปล่อยข่าวเรื่องแผนการที่จะใช้กำลังทหารรุกเข้าไปในดินแดนของสาวงาม โดยมหาอำนาจตะวันตก ที่นำโดยสหรัฐฯ ส่วนทางอีกฝ่ายก็ไม่ยอมน้อยหน้า จีนแผ่นดินใหญ่ ที่เข้าไปซื้อน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลา ล่าสุด ทางรัสเซีย โดยการนำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ก็ได้มีคำสั่งให้ทหาร จำนวนนับร้อยนาย กรีธาพลเข้าไปในเวเนซุเอลา โดยกองทหารของรัสเซียเหล่านี้ ได้ไฟเขียว รับอนุญาตให้ประจำการถึงในบริเวณใกล้กรุงคารากัส เมืองหลวงของประเทศกันเลยทีเดียว พร้อมมีข้ออ้างว่า กองทหารทัพพญาหมีข้างต้น มาทำหน้าที่ปรึกษาให้แก่รัฐบาลของทางฝั่งนายมาดูโร ทหารรัสเซีย ที่เข้าไปในเวเนซุเอลา อย่างไรก็ตาม บรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ต่างบอกว่า ไม่เชื่อตามคำกล่าวอ้างดังกล่าว แต่เป็นการมาเพื่อค้ำบัลลังก์ให้แก่นายมาดูโรเสียอีก เพราะนอกจากจำนวนกำลังพลนับร้อยแล้ว ก็ยังมียุทโธปกรณ์ต่างๆ มาด้วย ไม่ผิดอะไรกับการข่มนายกัวอิโด พร้อมฝากคำขู่ไปยังสหรัฐฯ อย่างเสร็จสรรพ ถึงขนาดที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ออกมากล่าวด้วยท่าทีที่แข็งกร้าว ระหว่างการเปิด “ทำเนียบขาว” ให้ “นางฟาบิอานา โรลาเรส” ภรรยาของนายกัวอิโด เข้าพบเมื่อวันก่อนว่า ทหารรัสเซียต้องออกจากเวเนซุเอลา เสียโดยไว ก่อนประกาศกร้าว “ทุกทางเลือกยังคงอยู่ในการพิจารณา” ซึ่งนั่นหมายความว่า สหรัฐฯ ของประธานาธิบดีทรัมป์ ก็พร้อมกรีธาพลทัพพญาอินทรีเข้าไปในแดนสาวงาม เพื่อจัดการกับนายมาดูโรด้วยเหมือนกัน นางฟาบิอานา โรลาเรส ภรรยาของนายฆวน กัวอิโด (ซ้าย) พบปะกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ เผชิญหน้าด้วยบรรยากาศตึงเครียดเช่นนี้ นักวิเคราะห์หลายท่าน บอกว่า ก็พาลให้นึกถึง “วิกฤติขีปนาวุธคิวบา” หรือ “วิกฤตการณ์แคริบเบียน” ซึ่งก็เป็นการประจันหน้าระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียในลักษณะนี้เช่นกัน