ภาพจากกล้องฮับเบิล เผยให้เห็นกาแล็กซีคู่ชนกัน จะก่อเป็นกาแล็กซีใหม่ เผยโอกาสมีน้อยมากที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ ด้วยกาแล็กซีแสนกว้างใหญ่ คาดกาแล็กซีทางช้างเผือกจะชนกับกาแล็กซีแอนโดรเมดาในอีกเกือบ 4 พันล้านปี สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์เรื่องของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ที่เปิดเผยภาพถ่ายการชนกันของกาแล็กซีคู่ NGC 6052 บริเวณกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส ที่อยู่ห่างจากโลก 230 ล้านปีแสง (ประมาณ 2000 ล้านล้านล้านกิโลเมตร) กาแล็กซีนี้ถูกค้นพบครั้งแรกโดยนักดาราศาสตร์ชื่อ วิลเลียม เฮอร์เชล (Willam Herschel) ในช่วงปี พ.ศ. 2327 แต่ในเวลานั้น NGC 6052 ถูกจำแนกเป็นกาแล็กซีเดี่ยวแบบไร้รูปร่าง ตามลักษณะที่ปรากฏให้เห็น การชนกันของกาแล็กซีเกิดจากแรงดึงดูดระหว่างสองวัตถุขณะเคลื่อนที่เฉียดเข้าหากัน ส่งผลให้ดาวฤกษ์และวัตถุภายในกาแล็กซีทั้งคู่รวมกันและก่อตัวขึ้นเป็นกาแล็กซีใหม่ ซึ่งนักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า สุดท้ายแล้วจะมีรูปร่างเป็นอย่างไร และแม้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะดูรุนแรงและน่ากลัว แต่ความเป็นจริง ดาวฤกษ์ภายในมีโอกาสชนกันน้อยมาก เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ภายในกาแล็กซีเป็นพื้นที่ว่างและกว้างใหญ่มากเมื่อเทียบกับจำนวนดาวฤกษ์ที่มีอยู่ สำหรับกาแล็กซีทางช้างเผือกที่เราอาศัยอยู่นี้ จะเข้าชนกับกาแล็กซีแอนโดรเมดา ในอีก 3.75 พันล้านปีข้างหน้า และกาแล็กซีใหม่ที่เกิดขึ้นจะมีชื่อว่า Milkomeda หรือ Milkdromeda แหล่งที่มา : https://phys.org/…/2019-03-hubble-dazzling-colliding-galaxi… https://www.sciencealert.com/nasa-has-released-a-breathtaki… เรียบเรียง : นายเจษฎา กีรติภารัตน์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ - สดร.