เพราะความที่เป็น “เบอร์หนึ่ง” เลยทำให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์ใหญ่น้อย ต่างทะยอยออกมาส่งซิก สะกิดเตือน ด้วยความกังวล ว่าจะส่งผลกระทบเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่กันไปถ้วนหน้า สำหรับ “สหรัฐอเมริกา” เจ้าของฉายา “พญาอินทรี” มหาอำนาจหมายเลขหนึ่งในหลายๆ ด้านของโลก รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ ที่เหล่ากูรูด้านเศรษฐศาสตร์ ออกมาประเมินกันในสถานการณ์ช่วงนี้ พร้อมส่งซิกสะกิดเตือนให้ได้ทราบกัน โดยการส่งเสียงเพรียกเตือน ก็มีขึ้นภายหลังการสำรวจความคิดเห็นของเหล่านักเศรษฐศาสตร์จำนวน 55 คน จากสถาบันต่างๆ โดย “สมาคมเพื่อเศรษฐศาสตร์ธุรกิจแห่งชาติสหรัฐฯ” หรือ “เอ็นเอบีอี” ภายใต้การนำของ “นายเกรกอรี ดาโก” ประคณะนักศาสตร์ และผู้นำของเอ็นเอบีอี ในการสำรวจที่มี ได้เผยแพร่เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ผลการสำรวจความคิดเห็น ปรากฏว่า 3 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างข้างต้น ได้ปรับลดตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คือ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ” หรือ “จีดีพี” ในปีนี้ของสหรัฐฯ ลง จากเดิมที่เคยประเมินกันไว้เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ที่ร้อยละ 2.7 ก็เหลือที่ร้อยละ 2.4 ลดลงจากการขยายตัวเมื่อปี 2018 (พ.ศ. 2561) ที่ร้อยละ 2.9 ก่อนประเมินต่อเนื่องไปถึงปีหน้า คือ 2020 (พ.ศ. 2563) ด้วยว่า สหรัฐฯ จะเติบโตเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น สถานการณ์ที่เป็นเช่นนี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์ ล้วนระบุว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าเข้าสู่สภาวะ “จุดเปลี่ยนเว้า (Inflection Point)” ของ “วัฏจักรเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็ฯการเข้าสู่จุดเปลี่ยนจากภาวะหดตัวของเศรษฐกิจในอัตราสูงเป็นการหดตัวของเศรษฐกิจในอัตราลดลง แต่ยังไม่ถึงขั้นฟื้นตัวดี แผนการสร้างรั้วกั้นพรมแดนสหรัฐฯ – เม็กซิโก ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ที่ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล พร้อมกันนี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์กลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า มีโอกาสถึงร้อยละ 20 ที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เผชิญกับภาวะถดถอย หรือหดตัวลง ในปีนี้ ส่วนในปีหน้า มีโอกาสที่ร้อยละ 35 ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ทั้งนี้ การปรับการประมาณการทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ข้างต้น ก็มีขึ้นภายหลังจาก “ธนาคารกลางสหรัฐฯ “ หรือ “เฟด” ได้เปลี่ยนท่าทีในนโยบายเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย เมื่อช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยทางเฟดได้ประกาศนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ร้อยละ 2.25 – 2.50 ซึ่งก็ทำให้ทางบรรดานักเศรษฐศาสตร์กลุ่มตัวอย่าง ต้องมานั่งประเมินกันใหม่ โดยนอกจากคาดการณ์ทางเศรษฐกิจแล้ว ก็ยังพ่วงการประมาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอีกต่างหากด้วย ที่จากเดิมคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ประมาณ 3 ครั้ง ก็เหลือเพียง 1 ครั้งเท่านั้น ส่วนเหตุปัจจัยที่ทำให้คณะนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มตัวอย่างปรับลดประมาณการ ด้วยความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีหลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นจากปัจจัยภายในสหรัฐฯ ที่มีการปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งเหล่านักเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า อาจส่งผลกระทบมากที่สุดยิ่งปัจจัยใดๆ ก็เป็นได้ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากขึ้นเกินกว่าที่ทางเฟดตั้งเป้าไว้ คือ จากร้อยละ 2 ไปสู่ร้อยละ 3 ภาพกราฟฟิกแสดงการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เอง เหล่านักเศรษฐศาสตร์ ยังวิตกเรื่องที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีแผนการที่จะใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะเรื่องนโยบายการสร้างรั้วกั้นพรมแดนระหว่างสหรัฐฯ – เม็กซิโก การอัดงบประมาณกลาโหมจำนวนมหาศาล แต่ในขณะเดียวกัน ปรากฏว่า ทางการสหรัฐฯ กลับปรับการจัดเก็บภาษี รายได้ที่จะเข้ารัฐลดลง ส่วนปัจจัยภายนอก คณะนักเศรษฐศาสตร์ เป็นห่วงเรื่องผลพวงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับนานาประเทศ โดยเฉพาะกับจีนแผ่นดินใหญ่ มหาอำนาจทางเศรษฐกิจหมายเลขสองของโลก ซึ่งเป็นคู่ที่สำคัญของสหรัฐฯ ทั้งนี้ สงครามการค้าดังกล่าว นอกจากส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แล้ว ก็ยังกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยส่วนรวม ที่จะทำให้เกิดภาวะชะลอตัวลง ก่อนส่งผลร้ายย้อนกลับมาทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัว หรือถึงขั้นถดถอยลงไปได้ด้วยเช่นกัน