สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์เรื่องราว #ความเหมือนที่แตกต่างระหว่างดาวสองดวง โดยระบุ “เมื่อไม่นานมานี้ นักดาราศาสตร์นำภาพถ่ายชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีจากยานอวกาศจูโน กับภาพถ่ายแพลงก์ตอนในทะเลบอลติก ซึ่งอยู่แถบยุโรปเหนือ จากดาวเทียมแลนด์แซท 8 มาเปรียบเทียบกัน พบลักษณะการไหลของชั้นบรรยากาศดาวพฤหัสบดีกับน้ำทะเลบนโลกมีความคล้ายคลึงกันมาก ชวนให้สงสัยว่าเกิดจากอะไร? คำตอบคือ “ทั้งสองปรากฏการณ์เกิดจากการหมุนวนของของไหล” สำหรับดาวพฤหัสบดี (ภาพซ้าย) นักดาราศาสตร์คาดว่า ลวดลายของชั้นบรรยากาศ เกิดจากการหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็วของดาวพฤหัสบดีและบรรยากาศชั้นในที่มีอุณหภูมิสูงกว่า ทำให้เมฆแอมโมเนียสีขาวที่อยู่ในบรรยากาศชั้นนอกสุดปั่นป่วน ส่วนทะเลบอลติก (ภาพขวา) บนโลกนั้นเกิดจากการไหลของกระแสน้ำแบบปั่นป่วน (Turbulence) ซึ่งมีความเร็วและทิศทางไม่แน่นอนจึงเกิดการพัดพาความร้อนและธาตุอาหารมาแลกเปลี่ยนกันระหว่างชั้นน้ำทำให้แพลงก์ตอนสีเขียวหมุนวนตามกระแสไหล เกิดเป็นลวดลายคล้ายชั้นบรรยากาศบนดาวพฤหัสบดี แม้ดาวเคราะห์ทั้งสองดวงจะแตกต่างกัน แต่ก็ยังสามารถเกิดปรากฏการณ์ลักษณะคล้ายกันได้ เป็นเพราะกฎฟิสิกส์นั้นครอบคลุมอยู่ทั่วทั้งเอกภพนั่นเอง อ้างอิง https://earthobservatory.nasa.gov/i…/144643/jupiter-or-earth เรียบเรียง นางสาวฟ้าประกาย เจียรคุปต์ –เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.