“อุเทน” แนะ “บิ๊กตู่” อยากสง่างามต้องให้ พปชร.รวมเสียงข้างมาก ส.ส.ให้ได้ อย่าหวังพึ่ง ส.ว.ที่ตัวเองมีส่วนในการสรรหา แปลกใจ กรธ.ไม่ระบุกรอบเวลาตั้งนายกฯ ในรัฐธรรมนูญ หวั่นนำสู่สุญญากาศ นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองภายหลังการเลือกตั้งว่า หลังจากนี้ต้องจับตาการรวบรวมเสียง ส.ส.ของพรรคการเมืองเพื่อชิงการครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนการกุมเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี โดยขณะนี้เท่าที่ประเมินคร่าวๆ ทั้ง 2 ฝ่าย ระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ เหมือนจะมีเสียงสนับสนุนใกล้เคียงกันในลักษณะปริ่มน้ำ ไม่มีฝ่ายไหนยึดครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างเบ็ดเสร็จ และเมื่อพิจารณาไปถึงบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา 250 เสียงร่วมลงมติเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย โดยต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ 2 สภา หรือต้องได้ 376 เสียง ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวหากไม่ต้องการให้มีการแทรกแซงโดยวุฒิสภา พรรคการเมืองก็จำเป็นต้องรวบรวมเสียงให้ได้มากถึง 376 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะแต่ละพรรคการเมืองก็กำหนดเงื่อนไขการสนับสนุนซึ่งกันและกันไว้จนไม่สามารถมาบรรจบกันได้ “ฝ่ายพรรคเพื่อไทยคงไม่มีทางเลือก หากอยากจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องได้เสียงมากถึง 376 เสียงซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน ในทางกลับกันพรรคพลังประชารัฐอาจไม่จำเป็นต้องได้เสียง เพราะถูกมองว่าจะได้รับการสนับสนุนจาก 250 ส.ว. อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงการทำงานของรัฐบาลที่ต้องมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น ส่วนตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ ก็ต้องคำนึงถึงความสง่างาม ที่ต้องรวบรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นเสียงข้างมาก เพื่อไม่ให้ถูกมองว่า ได้เปรียบจากเสียงสนับสนุนของ 250 ส.ว.ที่ตัวเองมีส่วนสำคัญในการสรรหาด้วย” นายอุเทน ระบุ นายอุเทน ยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หลังกลับไปทบทวนห้วงเวลาการดำเนินการเกี่ยวกับการตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ก็มีความเป็นห่วงว่า การเมืองไทยจะเข้าสู่สุญญากาศอีกครั้ง เนื่องจากได้มีการกำหนดห้วงเวลาเกี่ยวกับการแต่งตั้ง ส.ว. และการรับรอง ส.ส. ตลอดจนรัฐพิธีการเปิดประชุมรัฐสภานัดแรกที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเป็นผู้เปิดการประชุมด้วยพระองค์เอง ไว้ไม่เกินวันที่ 24 พ.ค.62 หากแต่หลังจากนั้น ทั้งการขั้นตอนการเลือกตัวประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานรัฐสภา (ประธานวุฒิสภา ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาเอาไว้ รวมไปถึงการเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 ในรัฐธรรมนูญ ก็กล่าวถึงเพียงเรื่องขั้นตอนและคุณสมบัติของนายกฯเท่านั้น โดยไม่มีการกำหนดกรอบเวลาไว้เช่นกัน “เท่ากับว่าหากยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องนายกฯ เรื่องเสียงข้างมากในสภาฯ ก็ไม่สามารถเลือกนายกฯ หรือเลือกประธานสภาฯ ที่เป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งได้ ส่งผลให้รัฐบาลปัจจุบันก็จะสามารถรักษาการไปได้เรื่อยๆไม่มีสิ้นสุด ซึ่งย่อมนำมาซึ่งความไม่พอใจของผู้ที่ไม่เห็นด้วย และกลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล คสช.อย่างแน่นอน จนอดแปลกใจไม่ได้ว่า เหตุใดผู้ร่างรัฐธรรมนูญถึงหลงลืม หรือไม่กล่าวเรื่องกรอบเวลา จนอาจถูกมองว่า มีความพยายามวางกับดักไว้ให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่” นายอุเทน ระบุ