เมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 เวลา 08.00 น. นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางไปเปิดการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง พร้อมลงคะแนนใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ณ หน่วยเลือกตั้งที่ 44 แขวงหนองบอน เขตประเวศ (บริเวณโรงเรียนบ้านหนองบอน) จากนั้นตรวจหน่วยเลือกตั้ง 43-50 ในบริเวณใกล้เคียง ทั้งนี้ ปลัดกทม. กล่าวว่า บรรยากาศในช่วงเช้ามาประชาชนเดินทางทยอยมารอใช้สิทธิตั้งแต่เช้า คาดว่าในวันนี้จะมีประชาชนมาใช้สิทธิถึง 80% สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ แบ่งเขตการเลือกตั้งเป็น 30 เขต มีหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 6,149 หน่วย เป็นอาคาร จำนวน 2,761 หน่วย และเป็นเต็นท์ จำนวน 3,388 หน่วย เขตที่มีหน่วยเลือกตั้งมากที่สุด คือ เขตบางแค จำนวน 219 หน่วย และเขตที่มีหน่วยเลือกตั้งน้อยที่สุด คือ เขตสัมพันธวงศ์ จำนวน 26 หน่วย จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งสิ้น 4,489,390 คน เป็นชาย จำนวน 2,059,967 คน เป็นหญิง จำนวน 2,429,423 คน เขตที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ เขตสายไหม จำนวน 161,198 คน เขตบางเขน จำนวน 156,390 คน และเขตดอนเมือง จำนวน 137,003 คน ส่วนเขตที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งน้อยสุด ได้แก่ เขตสัมพันธวงศ์ จำนวน 19,460 คน สำหรับสถิติการเลือกตั้ง ส.ส. ในเขตกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 มีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 71.80 โดยเขตที่มีประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 29 (เขตทวีวัฒนา และเขตหนองแขม) ร้อยละ 75.63 กรุงเทพมหานครขอเชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งนำบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ บัตรหรือหลักฐานอื่นใดที่ออกโดยราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตรที่ยังไม่หมดอายุ เช่น ใบขับขี่ หรือพาสปอร์ต เป็นต้น ไปแสดงตนขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ณ บริเวณที่เลือกตั้งที่ท่านมีชื่อในทะเบียนบ้าน ในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 เวลา 08.00 – 17.00 น. ผู้ที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 17 และ 24 มี.ค. 62 ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งภายใน 7 วันก่อนการเลือกตั้ง (17 – 23 มี.ค. 62) หรือภายใน 7 วันหลังการเลือกตั้ง (25 – 31 มี.ค. 62) ทั้งนี้ให้แจ้งเหตุต่อนายทะเบียนเขตที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือ ระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน แจ้งได้ 3 ทาง ดังนี้ แจ้งด้วยตนเอง มอบหมายให้ผู้อื่นไปแจ้งแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง และไม่ได้แจ้งเหตุอันอาจไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุฯ แล้วแต่เหตุนั้นไม่สมควร กฎหมายกำหนดให้เสียสิทธิบางประการดังต่อไปนี้ 1. สิทธิในการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 2. สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 3. สิทธิในการสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน 4. ต้องห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง และ 5. ต้องห้ามดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งการจำกัดสิทธิทั้ง 5 ข้อ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปีนับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และหากในการเลือกตั้งครั้งต่อไปไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีก ให้เริ่มนับเวลาการจำกัดสิทธิ 2 ปีใหม่จากวันที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิครั้งล่าสุด