เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 ที่เวสต์เกตฮอลล์ ชั้น 4 เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน "วันน้ำโลกและสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ" ซึ่งในปีนี้องค์การสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์ในระดับโลกคือ Leaving no one behind ขณะที่ประเทศไทยได้กำหนดแนวคิดเพิ่มเติมในการรณรงค์ระดับประเทศคือ"ทั่วถึง เท่าเทียม เพียงพอ" โดยมี นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล รองอธิบดีกรมอนามัย และหัวหน้าส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวประมาณ 600คน ภายในงานมีการจัดเวทีเสวนาหัวข้อ"ความท้าทายของการบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภค"และกิจกรรม เครื่องเล่า...จากสายน้ำ กิจกรรม ลำนำแห่งสายน้ำ พล.อ.ฉัตรชัย เปิดเผยว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดและน้ำดื่มเป็นปัญหาสำคัญของประเทศต่างๆทั่วโลก ในปี 2535 องค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปีเป็นวันน้ำโลก หรือ World Water Day แต่ละปีทุกประเทศทั่วโลกจะร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องน้ำแก่ประชาชน สำหรับประเทศไทย รัฐบาลเห็นความสำคัญของแก้ปัญหาน้ำด้วยเป้าหมายหลักที่จะพัฒนาประเทศไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี โดยน้อมนำหลักการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นเครื่องมือตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ควบคู่กับน้อมนำแนวทางของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10 "สืบสาย รักษา ต่อยอด" มาเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำจากโครงการที่มีอยู่ "ผลงานการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาของรัฐบาลทำให้เกิด 4 เสาหลักที่สำคัญครั้งแรกของประเทศ ได้แก่ 1.การจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2558-2569 2.การตราพระราขบัญญัติทรัพยาการน้ำมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 27มกราคม 2562 3.การจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหน่วงงานหลักในการกำกับดูแลการบริหารจัดการน้ำของประเทศ และ 4.การนำองค์ความรู้โดยใช้ศาสตร์พระราชา งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความรู้จากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่" จากการดำเนินงาน 4 ปี ที่ผ่านมาสามารถเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บได้เทียบเท่ากับ 12 ปี ของรัฐบาลชุดก่อนหน้าที่จะเข้ามา เห็นว่า 4 ปี ที่ทำมานั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังลดปัญหาน้ำท่วมใน ปี 2560 ซึ่งมีปริมาณฝนที่ตกลงมาในประเทศไทยมากกว่าปี 2554 ขณะที่ปัญหาภัยแล้วปีที่ผ่านมาสามารถลดภัยแล้งลงไปได้มาก ส่วนภัยแล้งในปีนี้ได้มีการบริหารงานอย่างเป็นระบบสามารถลดพื้นที่การประกาศภัยแล้งได้เช่นกัน พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า เรื่องภัยแล้งได้เตรียมการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยวางเป้าหมายว่าน้ำอุปโภค-บริโภคจะต้องไม่ขาดแคลนทั้งประเทศ โดยภายในปี 2562 หมู่บ้านในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ7,490 หมู่บ้าน คงเหลือ170 หมู่บ้าน จะต้องมีน้ำกินน้ำใช้ครบทุกหมู่บ้าน ดังนั้นหน่วยงานที่รับแผนงานดังกล่าวไปจะต้องไปวางแผนต่อ เช่น ชลประทาน ท้องถิ่นจะทำอย่างไร พื้นที่ไหนมีน้ำอุปโภค-บริโภค ไม่เพียงพอ หน่วยงานราชการก็จะต้องเข้าไปซึ่งมีการวางแผนชัดเจนแล้วและเริ่มดำเนินการไปแล้วและสัปดาห์หน้าจะมีการติดตามสถานการณ์อีกครั้ง "สำหรับน้ำเพื่อการเกษตรต้องประสานงานกับหลายหน่วยงาน พื้นที่ไหนมีน้ำไม่เพียงพอจะต้องแจ้งให้ประชาชนรับรู้ก่อนว่าอย่าทำเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ไปวางแผนว่าพื้นที่ไม่ควรปลูกข้าวให้ปลูกเป็นพืชน้ำน้อย โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณเพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่เข้าโครงการปลูกพืชน้ำน้อยให้ด้วย ส่วนพื้นที่ไหนไม่ควรปลูกพืชก็อย่าปลูก พื้นที่ปลูกพืชไปแล้วก็พยายามส่งน้ำไปให้เพื่อป้องกันความเสียหาย อย่างไรก็ตามพื้นที่ในเขตชลประทานไม่น่ากังวล แต่นอกเขตชลประทานมีพื้นที่ประมาณ กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่การเกษตร ประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งท้องถิ่นและหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบูรณาการจัดการน้ำร่วมกัน"