พุทธชาติ แซ่เฮ้ง/เรื่อง พสุพล ชัยมงคลทรัพย์/ภาพ หมายเหตุ : การเลือกตั้งครั้งสำคัญ 24 มี.ค. 2562 ได้เปิดฉากขึ้นแล้ว หลังเปิดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนมีความตื่นตัว ออกมาใช้สิทธิ์มากกว่า 86% ทั้งนี้ “รศ.ตระกูล มีชัย” รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์กับ “สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์” ถึง การเลือกตั้งครั้งนี้ จะสามารถพลิกประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งใหญ่ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้ -มองการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไรบ้าง การเลือกตั้ง ปี 2562 ระดับความสนใจของประชาชนจากสาเหตุหลายปัจจัย ปัจจัยแรกเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนรอมา 5 ปี หลังจากมีการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 ที่หลายคนยังเกิดความสงสัยในเชิงการเมือง ปัจจัยที่สอง โรคเลื่อนการเลือกตั้งหลายครั้ง ของรัฐบาล และ คสช. ทำให้มีความตื่นตัว และกระตุ้นความสนใจของประชาชน ปัจจัยที่สาม การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเรียนรู้ทางการเมืองของประชาชน ในลักษณะการเมืองประชาธิปไตย กับการเมืองเผด็จการ ซึ่งมีวาทะกรรมทางการเมืองว่า “เผด็จการ ดีกว่าประชาธิปไตยที่เป็นเผด็จการ หรือประชาธิปไตยที่ทุจริตคอร์รัปชั่น” และมีความพยายามที่จะสร้างวาทะกรรมทางการเมืองใหม่ว่า “เผด็จการ ก็มีประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ได้ดีกว่ารัฐบาลประชาธิปไตย” ปัจจัยที่สี่ วิวัฒนาการของโลก และสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ และปากท้องของประชาชน ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ที่อิ่มหมีพีมัน และผู้ที่อดอยาก โดยเฉพาะปัญหาประชาชนระดับล่าง แม้รัฐบาลจะมีนโยบายเชิงประชานิยมมาก แต่ยังไม่ตอบโจทย์ขั้นพื้นฐาน รวมทั้งมีลักษณะของคนไทย ไม่อยากย่ำอยู่กับคนเดิมๆ นานเกิน 2-3 ปี ถ้าหากย้อนดู 5 ปี ความเบื่อหน่ายค่อยๆ ซึมลึก จึงอยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ปัจจัยที่ห้า กลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ First Vote มีประมาณ 2 ล้านกว่าคน เป็นแรงตื่นตัว บวกกับสื่อ Social ยุคใหม่ สร้างความตื่นตัวให้กับคนที่อยากจะแสดงพลังทางการเมือง และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยที่หก การเลือกตั้งครั้งนี้ ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ ระบบการเลือกตั้งถือเป็นตัวแปรตัวหนึ่งมีที่ทำให้ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต มีจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา และคาดหวังจะได้คะแนนเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ จึงร่วมรณรงค์ให้เกิดการเลือกตั้ง คิดว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็น “ประวัติศาสตร์ทางการเมือง” ที่จะมีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา มากกว่าร้อยละ 80 และถ้าประชาชนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง จะเป็นเครื่องให้ฝ่ายที่อยากยึดอำนาจ ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะเสียงประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ์มหาศาล จะเป็นตัวค้ำจุ้นระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันฝ่ายการเมือง ต้องทำตัวให้ดี เพราะประชาชนจำนวนมากติดสินใจเลือกให้มาบริหารประเทศ แต่จะต้องไม่มีการโกงการเลือกตั้งเหมือนเช่นปี 2500 และความตื่นตัวนี้ ทำให้ทุกพรรคการเมืองวิตกว่า ความตื่นตัวที่มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจำนวนมาก จะส่งผลให้เกิดอะไรขึ้น แม้นักวิเคราะห์ทางการเมืองไม่กล้าฟันธงว่า ใครจะมา เพราะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบที่ไม่เคยใช้ในเมืองไทยมาก่อน และผลการเลือกตั้งแบบนี้จะก่อให้เกิดปัญหาอะไรตามมาหรือไม่ -ทิศทางหลังการเลือกตั้ง หลังมีผู้มาใช้สิทธิ์ล่วงหน้ามากถึง 86% การไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าเกือบ 90% แตกต่างจากการเลือกตั้ง ปี 2554 ที่ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าน้อยมาก แค่ 50% ซึ่งเป็นการแสดงถึงความตื่นตัวสูงมาก และสอดรับกับผลโพลของการใช้สิทธิ์เลือกตั้งจากหลายสำนักว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ มีสิทธิ์ถึงมากกว่าร้อยละ 80 ถ้าเป็นเช่นนี้ การคาดเดาการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 คงมีอะไรคาดไม่ถึงเยอะ เพราะจากคนที่ใช้สิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 70% ขึ้นมา 86% รวมทั้งพลังของคนหนุ่มสาว ในช่วงวัย 18-23 ปี บางคนยังไม่เคยเลือกตั้ง มีประมาณ 6-7 ล้านคน กลุ่มคนเหล่านี้อาจจะเป็นพลังของการเปลี่ยนแปลง คิดว่าปรากฎการณ์การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 คนอยากดูอะไรหลายอย่าง 1.คะแนนจะถล่มทลายไปฝ่ายไหน 2.มีคนมาใช้สิทธิ์มากมายแค่ไหน 3.พรรคอนาคตใหม่ จะสามารถดึงเสียงของกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เท่าไหร่ 4.ระหว่างพรรคการเมืองที่หนุน คสช. กับพรรคที่ไม่เอา คสช. รวมแล้วใครเป็นฝ่ายชนะ แต่คงไม่ได้มองถึงว่าใครเป็นรัฐบาล อย่างไรก็ตาม มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ อายุไม่ยาว สภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้อยู่ได้นานสุดแค่ 2 ปี เนื่องจากเงื่อนไขกติกาเลือกตั้งแบบใหม่ ทำให้พรรคการเมืองใดมีเสียงข้างมาก สร้างเสถียรภาพทางการเมืองได้ และเป็นการออกแบบรัฐธรรมนูญที่พิกลพิการ เช่น การแปรญัตติให้วุฒิสภาจากการแต่งตั้ง 250 คน มาเลือกนายกรัฐมนตรี ถือว่าการเมืองตามรัฐธรรมนูญแบบนี้ เป็นความผิดพลาดที่อาจก่อให้เกิดหายนะทางการเมืองอย่างรุนแรง คือ การเมืองไม่มีเสถียรภาพ รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้ ทั้งนี้ ถ้าผลการเลือกตั้งไม่เด็ดขาด เสียงข้างมากไม่มีในสภาฯ จึงมีทางเลือกสำหรับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มี 2 ทางเลือก คือ ทางเลือกแรกยอมเป็นนายกฯ เสียงข้างน้อย และใช้อำนาจทางตำแหน่งบริหาร ดึงพรรคการเมืองอื่นเข้ามาร่วม เพื่อให้ได้รัฐบาลเสียงข้างมาก แต่คาดว่าอยู่ได้ไม่นาน และเข้าสู่วงจรแห่งความชั่วร้าย ส่วนทางเลือกที่สอง พล.อ.ประยุทธ์ สละตัวเองไม่ขอเป็นนายกฯ เพราะเสียงไม่พอ ถ้าเป็นเช่นนี้ จะเกิดโจทย์ว่า เสียงพรรคพลังประชารัฐ รวมกับเครือข่าย ได้เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาฯ จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และอาจไปไม่รอด ต้องยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ หรือการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยส่งคนกลางมาเป็นแกนนำ และให้ทุกพรรครวมกัน แต่อาจจะเป็นรัฐบาลแห่งชาติ 2 ทางเลือก คือ รัฐบาลแห่งชาติ อยู่เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ เช่น ระบบการเลือกตั้ง หรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ อาจะใช่เวลา 1-2 ปี หรือ คนที่จะมาเป็นผู้นำรัฐบาลแห่งชาติ เป็นกลางไม่เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง บริหารประเทศให้พ้นวิกฤติสักระยะหนึ่ง และจัดให้มีการเลือกตั้ง -ตัวเลขส.ส. แต่ละพรรคที่ได้เข้าสภาฯ เป็นคำตอบสุดท้ายของการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ คิดว่าไม่น่าใช่ แต่เป็นความท้าทายเหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ถ้าคนมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งถึงมากว่าร้อยละ 80 เสียงพรรคพลังประชารัฐ หรือเสียงพรรคเพื่อไทย อาจจะมาถล่มทลายก็ได้ แต่โอกาสครั้งนี้ทุกพรรคมีดุลยภาพเท่ากัน ทั้งพรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย แตกต่างกันไม่มาก เมื่อ 3 ก๊กนี้ ไม่สามารถจับมือร่วมกันได้ การเมืองจึงอยู่ระหว่างการชักเย่อด้วยพลังที่เท่ากัน กลุ่มที่เหลืออยู่ มีอยู่ประมาณ 100 กว่าเสียงที่จะรวมตัวกันของพรรคขนาดกลาง และเล็ก ถ้ารวมตัวเพื่อก่อให้เกิดดุลอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคงยาก และวุฒิสภาไม่อาจร่วมโหวตด้วย ดังนั้นทางเลือกที่จะเรียกร้องให้วุฒิสภาฟังเสียงประชาชนเสียงข้างมากคงยาก การเลือกตั้งครั้งนี้ อาจะเกิดปรากฎการณ์ “Deadlock” ทางการเมือง นอกจากนี้ อาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 ก๊ก โดยก๊กที่ 4 คือ พรรคขนาดกลาง และเล็ก จับมือกัน เช่น พรรคพลังท้องถิ่นไท คิดว่าจะได้ประมาณ 10 เสียง และพรรคที่มี 10 เสียงขึ้นไป จับมือกันได้ 100 กว่าเสียง จะมีพลังขึ้นมา โดยสร้างพันธมิตรขนาดเล็ก ซึ่งการต่อรองทางการเมือง เมื่อมี 3 ก๊ก ต่อรองกันและไปไหนไม่ได้ ดังนั้น ก๊กเล็กๆ ที่จับมือกัน เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง แต่ต้องเป็นคนที่เป็นแกนกลาง ที่มีบารมีทางการเมือง ใจนักเลง เป็นที่ยอมรับนับถือ อาจไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นคนกลุ่มทุนใหญ่ที่อยู่เบื้องหลัง -เงื่อนไขใด ที่จะทำให้การเมืองเดินข้างหน้าได้ การเมืองไทยช่วงหลังเลือกตั้ง ควบคู่กับพระราชพิธีสำคัญ คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งมองว่าองค์ประกอบสถาบันพระมาหกษัตริย์กับวัฒนธรรมทางการเมืองไทย รูปแบบนี้มีความเป็นไปได้ ที่ทุกพรรคจะยอมกัน ในโอกาสที่บ้านเมืองมีพิธีมงคล และผ่านช่วงเวลานี้ไป 1-2 ปี แต่ให้มีการทำสัตยาบรรณร่วมกันว่า จะแก้ไขอะไร ถือเป็นทางออกที่ทุกคนจะกลับเข้าสู่กฎเกณฑ์ กติกา -การเลือกตั้ง เป็นตัวชี้วัดถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้หรือไม่ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หากเปลี่ยนแปลงภายใต้กลไกรัฐธรรมมนูญ ถือเป็นปกติที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพราะระบบสภาฯ ของไทย ถ้าอยู่บนพื้นฐานของการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ 1-2 ปี ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางการเมือง ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนอกกติการัฐธรรมนูญ คำตอบนี้ นักวิชาการไม่มีใครกล้ารับประกัน เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2549 และ2557 เนื่องจากการเมืองไทยมีลักษณะความผูกพันธ์ของประชาชนกับสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย คือ พรรคการเมือง คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ไม่ได้มากไปกว่าความผูกพันธ์ต่อคนไทย หรือสถาบันระบบราชการ บางส่วนมีความเชื่อมั่นว่าสถาบันระบบราชการทั้งทหาร และฝ่ายพลเรือน คือ ทางออกของสังคมไทย รวมทั้งมีกลไก เครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองสูงมาก ในขณะที่การเมืองเข้มแข็ง ระบบราชการจะพยายามเลี้ยงระบบของตัวเอง สร้างความชอบธรรม แต่จะไม่ไปแข่ง แต่หากการเมืองระบบรัฐสภา ระบบประชาธิปไตยอ่อนแอ เกิดความขัดแย้ง ไร้เสถียรภาพ ระบบราชการก็จะสร้างความเข้มแข็งของสถาบันทางการเมือง และหาช่องทางสร้างความชอบธรรมกับประชาชน ในการเข้ามาตอบปัญหาที่เกิดขึ้น -มองถึงวิวัฒนาการของทหาร ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ปรับเข้าสู่โหมดการเมืองอย่างไร เป็นทหารส่วนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มอำนาจ ไม่ใช่ทหารอาชีพ และทหารที่ยังอยู่ในราชการบางกลุ่มก็เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ยังมีทหารบางกลุ่มยังเป็นทหารอาชีพ ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะกลัวการเมืองเข้ามาแทรกแซงฝ่ายทหาร เช่น ยุบกองบัญชาการทหารสูงสุด ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ตัดงบทหาร ซึ่งทหารไม่แฮปปี้ ทั้งนี้ นักการเมืองระบอบประชาธิปไตย เมื่อปรับเข้าสู่โหมดการเมืองประชาธิปไตย เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ฝ่ายการเมืองจะไม่เข้าไปแทรกแซงทหาร เพราะนักการเมืองจะพอใจมากถ้าเป็นทหารอาชีพ เนื่องจากไม่มีประเทศไหนที่จะไปลดกำลังทหาร ไม่เตรียมพร้อมด้านความมั่นคง อย่างไรก็ดี ในกลุ่มทหาร มีความเชื่อว่า ยังมีทหารที่เป็นกลุ่มอาชีพจริงๆ ขอร้องให้ฝ่ายการเมืองส่งเสริมทหารกลุ่มนี้ เพื่อทำภารกิจหน้าที่ ถ้าเป็นแบบนี้การเมืองจะเดินไปได้สักระยะหนึ่ง แต่ในการเมืองต้องรักษาดุลภาพของตัวเอง ไม่มีปัญหาขัดแย้ง ทุจริต หรือ คอร์รัปชั่น และตราบใดไม่สามารถสร้างดุลยภาพของตัวเองได้ มีปัญหาขัดแย้ง แย่งชิงอำนาจ ทหารกลุ่มนี้ ก็อาจจะทนเห็นสภาพแบบนี้ไม่ได้ ก็จะเข้ามาแทรกแซงได้ -หลังการเลือกตั้ง จะลดความขัดแย้งลงได้หรือไม่ ความขัดแย้งทางการเมืองมีหลายระดับ ความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมือง ระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนที่มีปัญหา คิดว่าปัญหาความขัดแย้งที่จะมีมาก คือ ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับโครงการสาธารณะของรัฐบาล เพราะช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ถูกกดโดย คสช. เช่น การสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะ โดยใช้อำนาจและคำสั่งพิเศษไม่ให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ชุมนุมประท้วง เรื่องแค่นี้ก็มีการต่อต้านมหาศาล ต่อไปจะมีการตรวจสอบจากประชาชน ทำไม่ดี มีปัญหาประชาชนเดินขบวน กฎหมายไม่อาจสกัดกั้นได้ เพราะถูกกดมา 5 ปี ซึ่งจะเป็นระเบิดเวลาลูกที่ 1 ส่วนระเบิดเวลาลูกที่ 2 ความขัดแย้งเก่าๆ เช่น ความขัดแย้งเรื่องสี จะน้อยลง เพราะตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาไม่มี ตัวผู้นำมีการปรับเปลี่ยน แต่ความขัดแย้งจะถูกดึงเข้าไปสู่สภาฯ โดยใช้เหตุการณ์ปี 2557 มาเป็นบทเรียน -สุดท้ายประชาชนจะได้อะไรจากการหาเสียง หรือการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนจะต้องติดตามนโยบายประชานิยมที่ทุกพรรคการเมืองนำเสนอ ทั้งประชาชนที่ได้ผลโดยตรง กับประชาชนที่เสียภาษีแต่ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว หากมีการนำนโยบายนั้นมาใช้ รัฐบาลจะมีวิธีการอย่างไร เพราะต้องใช้เงินมหาศาล จะนำเงินที่ไหนมาใช้ มีมาตรการด้านการคลังของรัฐอย่างไร ซึ่งหมายความว่า เงินในการบริหารนโยบายสาธารณะมีอยู่ก้อนเดียว ภาษีไม่มีการเก็บเพิ่ม และจะมีมาตรการลดภาษี เมื่อมีเงินอยู่แค่นี้ และเศรษฐกิจไม่โตขึ้น จะเอาเงินไปทำนโยบายสวัสดิการสังคมอย่างไร หรือต้องไปกู้เงินจนหนี้สาธารณะชนเพดาน ก็ต้องระวัง อีกนโยบาย คือ การแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร เป็นนโยบายที่เห็นผลจริงหรือ เช่น การยกระดับราคายางพารา ข้าว จะมีการสร้างนโยบายสาธารณะอย่างไร จะเหมือนเช่นเดิมหรือไม่ คิดว่า 2 นโยบายนี้ ประชาชนต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่มีข้อสังเกตว่า นโยบายการบริหารประเทศ ทุกพรรคไม่มีการพูดถึงนโยบายการพัฒนาภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะนโยบายต่อประเทศมหาอำนาจ ทั้งจีน และอเมริกา โดยเฉพาะข้อได้เปรียบ เสียเปรียบกับการลงทุนกับ 2 ประเทศ ดังนั้น ใครมาเป็นรัฐบาล จะต้องมาดูเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากให้ประชาชนติดตาม ท่าทีของเราต่ออเมริกาฯ จีน และอาเซียน สามารถสร้างดุลยภาพได้หรือไม่ และนโยบายด้านความมั่นคงภูมิภาคเป็นเรื่องอ่อนไหวมาก