การประมูลอภิมหาโปรเจ๊ก “บริษัทท่าอากาศยานไทย (มหาชน)” หรือ ทอท.ในการเปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน และสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์สุวรรณภูมิ ที่เวลานี้การเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ชอบมาพากลในการประมูลที่ส่อจะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนบางคน แม้ว่าสัญญาสัมปทานจะหมดในอีกไม่ที่วันข้างหน้านี้แล้วก็ตาม ทั้งนี้การประมูลสัมปทานดิวตี้ครั้งนี้ มีทั้งนักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ให้ความสนใจในการซื้อซองประมูลในครั้งนี้ โดย “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ทอท.ได้มีการออกประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนเรื่องงานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และประกาศเชิญชวนเรื่องงานให้สิทธิประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยตั้งใจให้มีการประกาศผลในเดือนพฤษภาคม 2562 ในช่วงเริ่มต้นของการเปิดประมูลดูจะสวยงาม แต่กลับมีปัญหาในเรื่องรายละเอียดการประมูล โดยเฉพาะในเรื่อง “ทำไม่ถึงใช้การประมูลแบ่งประเภทสินค้า (Category) และการรวมสัญญาการประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรีแต่ละสนามบินเป็นสัญญาเดียว”ซึ่งดูจะเป็นการผูกขาดผู้ที่จะได้รับสัมปทาน เบื้องต้นทางผู้บริการทอท.ชี้แจงว่าที่ไม่เลือกใช้การประมูลแบ่งประเภทสินค้า เพราะสนามบินไม่เหมือนห้างสรรพสินค้า การเคลื่อนไหวของผู้โดยสารในสนามบินเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ตามสถานการณ์และเครื่องบินที่จอดรับ ขณะที่การนำ 4 สนามบินรวมกันเป็นสัญญาเดียวจะน่าจูงใจมากกว่า เพราะสนามบินสุวรรณภูมิมีขนาดใหญ่ที่สุดคิดเป็น 82% ของรายได้ดิวตี้ฟรี ขณะที่สนามบินหาดใหญ่มีขนาดเล็กที่สุด คิดเป็น 0.04% หากเปิดประมูลเดี่ยวคงไม่มีใครสนใจ ส่วนสนามบินภูเก็ตและสนามบินเชียงใหม่ รวมกันคิดเป็น 18% เมื่อรวมกันและให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้ามาดำเนินธุรกิจจะทำให้ดิวตี้ฟรีของสนามบินสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ แต่แล้วการออกมาชี้แจงของผู้บริการทอท.นั่นก็ไม่เป็นผล หลายฝ่ายยังคงเดินหน้าออกมาให้แก้ไขรูปแบบการประมูล ร้อนถึง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องออกมาสั่งชะลอการประมูลในครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่า จำเป็นต้องสร้างความชัดเจนให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในแง่ข้อกฎหมายและรูปแบบการดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อให้มีการดำเนินการอย่างโปร่งใสและมีการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งกระทรวงคมนาคมเห็นควรให้ทอท.ชะลอเปิดประมูลสิทธิในการประกอบกิจการทั้ง 2 โครงการออกไปก่อน รวมทั้งให้ ทอท.หารืออย่างเป็นทางการกับกระทรวงการคลังถึงความชัดเจนว่าโครงการดังกล่าวเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐและเอกชนฉบับใหม่ หรือมติครม.ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไรก็ตามการสั่งชะลอของกระทรวงคมนาคมดูจะไม่เป็นผล เพราะทางทอท.ยืนยันที่จะยังคงดำเนินการเปิดประมูล ดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน และประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเช่นเดิม เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการตามขั้นตอนแล้วเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างโปร่งใสแล้ว เพียงแต่ยอมรับว่าอ่อนการประชาสัมพันธ์ ส่วนประเด็นว่าจะเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่หรือไม่นั้น ขณะที่ร่างทีโออาร์ยังไม่มีกฎหมายชี้ชัด ซึ่งได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้คำตอบว่า ให้ดำเนินการไปก่อน อีกทั้งทอท.เห็นว่าการดำเนินกิจกรรม 2 โครงการก็ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพราะหากสองกิจการนี้ไม่เกิดขึ้น กิจการท่าอากาศยานก็ยังสามารถดำเนินการได้ เพราะที่ผ่านมาก็มั่นใจว่าได้ทำตามขั้นตอนหมดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องหารือกับบอร์ดอีกแล้ว ล่าสุด “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคสช.ออกมารับลูกทอท.โดยรับรองว่า จะไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้ใครทั้งสิ้น ทุกอย่างต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งตอนนี้ทอท.อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งต้องคำนึงถึงผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และ รายได้เข้าประเทศเป็นสำคัญ ขณะที่ฝ่ายค้านหัวชนฝาโดย “สมาคมผู้ค้าปลีกไทย” ออกมาเสนอให้ทอท.ล้มการประมูล พร้อมยืนยันว่าการเปิดประมูลในการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร หรือดิวตี้ฟรี ภายในท่าอากาศยานไทยเป็นไปอย่างเป็นธรรมและรอบคอบ โดยควบรวม 4 สนามบินเป็นของผู้ประกอบการเดียว แม้ขณะนี้ ทอท.ได้เลื่อนการขายซองประมูลออกไปจากกำหนดวันที่ 19 มี.ค.-1 เม.ย.62 แต่สมาคมฯยืนยันที่จะเรียกร้องให้ล้มการประมูลดังกล่าว เพราะเป็นการประมูลหาผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ซึ่งถือเป็นการผูกขาด ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารแต่ละปีสูงถึง 62.8 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นตามการเติบโตของการท่องเที่ยว ทั้งนี้สมาคมฯ มีข้อเสนอแนะให้แยกทีโออาร์ในส่วนของสิทธิบริหารร้านดิวตี้ฟรีออกเป็น 3 ฉบับได้แก่1.ร้านดิวตี้ฟรีในสนามสุวรรณภูมิ ให้เป็นสัมปทานหลายรายการตามหมวดหมู่สินค้า 2.ร้านดิวตี้ฟรีในสนามบินภูเก็ตให้เป็นสัมปทานรายเดียว 3.ร้านดิวตี้ฟรึในสนามบินเชียงใหม่และหาดใหญ่รวมกันเป็น 1 ฉบับ ที่ผ่านมามีการประมูลดิวตี้ฟรีที่สนามอู่ตะเภาพื้นที่ 600 ตารางเมตรยังมีผู้เข้าประมูลถึง 4 ราย ไม่เข้าใจว่านำทั้ง 4 สนามบินมารวมกันทำไม ส่วนการอ้างให้สัมปทานรายเดียวเพราะการกระจายตัวของผู้โดยสารมีความไม่แน่นอนนั้นไม่เป็นความจริง เพราะการให้สัมปทานตามหมวดหมู่สินค้าสามารถจัดให้กระจาย 2-3 จุดในสนามบิน มีทั้งเครื่องสำอาง กลุ่มไวน์ สุรา ยาสูบ รวมทั้งสินค้าหมวดแฟชั่น Luxury ที่ทอท.สามารถวางแผนจัดสรรพื้นที่ได้ ที่ผ่านมาสนามบินในเอเชียมีผู้ประกอบการร้านค้าปลอดภาษีจำนวนมากกว่า 1 ราย ได้แก่ เกาหลี,ญี่ปุ่น,ฮ่องกง และสิงคโปร์มีจำนวน 10 ,10,7 และ 5 รายตามลำดับ มีระยะเวลารับสัมปทานเพียง 5-7 ปี นอกจากนี้สมาคมยังมีข้อเสนอแนะให้ตรวจสอบสัมปทานทั้งร้านดิวตึ้ฟรีและร้านค้าเชิงพาณิชย์ว่าอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่หรือไม่ โดยให้สอบถามสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายภายใต้คณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้ต้องการให้ ทอท.ใช้การประเมินสำหรับการประมูล 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค ถ้าผ่านได้จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 ที่ใช้ผลตอบแทนทางการเงินเป็นการตัดสินสุดท้าย รวมทั้ง ทอท.ควรจะเปิดเผยข้อมูลผู้โดยสารและยอดขายตามเชื้อชาติและหมวดหมู่สินค้า ดังเช่นสนามบินฮ่องกง อินชอนและชางงี เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยรายเดิมที่มีข้อมูลจะได้เปรียบกว่า อีกทั้งควรมีระยะเวลาการทำแผนเข้าร่วมประมูลอย่างน้อย 60-90 วัน จากทีโออาร์ที่ออกมาให้เวลาเพียง 30 วัน เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ อีกทั้งต่างชาติหลายรายสนใจเข้าประมูลในไทย แต่รูปแบบถ้าเป็นอย่างนี้ หลายชาติเตรียมรวมตัวประท้วง และถ้าเขาฟ้องชื่อเสียงของประเทศไทยจะเสียหาย ไทยจะมีภาพทุจริตคอร์รัปชั่น และฝากถึงพรรคการเมืองว่า จะยอมให้การประมูลเป็นผูกขาดรายเดียว ถ้ารัฐบาลนี้ปล่อยให้เกิดการผูกขาด และรัฐบาลใหม่เมื่อเข้ามาทำงานจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ สำหรับประเด็นที่ ทอท.ระบุว่า กิจการดิวตี้ฟรี และกิจการพื้นที่เชิงพาณิช ไม่ใช่กิจการเกี่ยวเนื่องที่ไม่เข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 นั้น สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้หยิบยกคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ให้การประกอบกิจการลานจอดรถยนต์ ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และสัญญาเช่าพื้นที่เป็นลักษณะให้บริการสาธารณะ จึงเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ. และพระราชกฤษฎีกา กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) พ.ศ.2545 โดยสมาคมฯมีมุมมองว่า พื้นที่ดิวตี้ฟรี พื้นที่เชิงพาณิชย์ น่าจะรวมถึงอาคารจอดรถผู้โดยสาร ต้องเข้าเกณฑ์ พ.ร.บ.ร่วมทุนภาคัฐและเอกชน เพราะแม้แต่สนามบินขนาดเล็กในต่างประเทศยังต้องมีพื้นที่ดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้นักท่องเที่ยวด้วย อีกทั้งรายได้จากกิจการที่ไม่เกี่ยวกับการบินของ ทอท.มีสัดส่วน 44% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งต่ำสุดในบรรดาสนามบินนานาติในเอเชียอาทิ สนามบินฮาเนดะ มีสัดส่วนรายได้ Non-Aero ถึง 73% ประกอบองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)ระบุไว้ชัดเจนว่า รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบินเป็นปัจจัยหลักการบริหารการเงินของสนามบินให้อยู่รอด สุดท้ายแล้วการประมูลบริหารพื้นที่ดิวตี้ฟรีของทอท.ในครั้งนี้จะมีทางออกอย่างไร!?! คำตอบควรต้องมีโดยเร็วที่สุด เพราะไม่งั้นผลเสียจะต้องอยู่ที่ประเทศชาติ!!