สมอ.แถลงผลงาน 6 เดือนแรก ปี 62 แก้กฎหมายเพิ่มโทษผู้กระทำผิด ยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานมูลค่ากว่า 1.17 พันล้านบาท เหล็กครองแชมป์อันดับหนึ่ง 836 ล้านบาท ล่าสุดกำชับผู้ค้าออนไลน์กว่า 50 ราย ขายสินค้ามาตรฐานบังคับต้องปฏิบัติตามกฎหมาย นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.ยังคงผลักดันการ Transform การมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำพาประเทศสู่ Thailand 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล อีกทั้งเร่งแก้ปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐานในท้องตลาดให้แก่ประชาชน เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ประกอบการยิ่งขึ้น โดยผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2562 (ต.ค.61-มี.ค.62) สมอ.เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจตราสินค้าในท้องตลาด ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สามารถยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานมูลค่ากว่า 1.178 พันล้านบาท เหล็กมากที่สุด มูลค่ากว่า 836 ล้านบาท รองลงมาเป็นวัสดุก่อสร้าง มูลค่ากว่า 337 ล้านบาท ตามมาด้วยโภคภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องกล ยานยนต์ ปิโตรเคมีและโพลิเมอร์ ตามลำดับ โดยในปีนี้ สมอ.ได้ปรับวิธีการตรวจติดตามร้านจำหน่าย จากเดิมดำเนินการตรวจร้านจำหน่ายในลักษณะปูพรมทั่วพื้นที่ในราชอาณาจักรเปลี่ยนเป็นการกำกับดูแลเน้นการสร้างเครือข่าย เพื่อให้ความรู้สถานประกอบการ โดยเชิญผู้บริหารห้างสรรพสินค้ารายใหญ่มาให้ข้อมูลด้านการมาตรฐานและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พร้อมทั้งจัดทีมเฉพาะกิจด้านการปราบปรามสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน สุ่มตรวจสอบอย่างเข้มข้นตามจุดเป้าหมายต้นทางที่สำคัญตามแหล่งกระจายสินค้าต่างๆ ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค.61 สมอ.ลงพื้นที่ตรวจห้างสรรพสินค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แล้วจำนวน 47 แห่ง อีกทั้ง สมอ.ยังได้มีแนวทางในการกำกับดูแลร้านค้าออนไลน์ด้วย โดยได้เชิญผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าออนไลน์กว่า 50 รายอาทิ บริษัท เซ็ลทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด,บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด,บริษัท ซีพีแลนด์ จำกัด,บริษัททีวีไดเร็ก จำกัด (มหาชน),บริษัท ไฮช้อปปิ้ง จำกัด ฯลฯ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องร่วมหารือแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่เป็นมาตรฐานบังคับจำนวน 112 รายการที่ สมอ.ควบคุม สำหรับการปรับแก้ไข พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ซึ่งมีการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ลดขั้นตอนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ เพิ่มโทษสำหรับผู้ทำ และนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานบังคับ โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก สมอ.จากเดิมจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษสำหรับร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์มาตรฐานบังคับ ที่ไม่ได้มาตรฐาน จากเดิมจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับตั้งแต่ 5000-50000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัย ขณะที่การปรับปรุงการให้บริการกับผู้ประกอบการได้มีการปรับปรุงกระบวนการออกใบอนุญาต โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการออกใบอนุญาต หรือ E-license ซึ่งผลการดำเนินงานตั้งแต่เปิดใช้ระบบวันที่ 5 ก.พ.61 เป็นต้นมา ผู้ประกอบการสามารถยื่นขออนุญาตผ่านระบบได้ 278 มาตรฐาน ได้รับใบอนุญาตแล้วจำนวน 1,004 ฉบับ โดยตั้งเป้าหมายภายในเดือนกันยายน 2562 ต้องยื่นผ่านระบบได้ 700 มาตรฐาน และภายในปี 2562 จะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลผลทดสอบกับห้องปฏิบัติการ (LAB) หน่วยตรวจสอบที่เป็น Outsource ให้กับ สมอ. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยผู้ประกอบการไม่ต้อง Upload เอกสารเข้าสู่ระบบอีกต่อไป ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น รวมทั้ง สมอ.ยังได้ปรับปรุงระบบการชำระค่าบริการต่าง ๆ ของ สมอ. ให้สามารถชำระผ่านทางธนาคารกรุงไทยได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ โดยสามารถตรวจสอบหรือจัดพิมพ์ใบแจ้งหนี้สำหรับนำไปชำระเงินผ่านช่องทางการชำระเงินของธนาคารได้ ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นมา นอกจากนั้น สมอ.ยังได้มีการสร้างหน่วยงานเครือข่ายมาช่วยกำหนดมาตรฐาน (SDOs) ขณะนี้ได้ประกาศแต่งตั้งหน่วยงาน องค์กร และสมาคมวิชาชีพต่างๆแล้ว 36 หน่วยงาน ซึ่งทำให้การกำหนดมาตรฐานของ สมอ. เร็วขึ้น จากเดิม 315 วัน เหลือเพียง 150 วันต่อเรื่อง ด้านการส่งเสริมเอสเอ็มอี สมอ.ได้จัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก. S) เพื่อยกระดับขีดความสามารถเอสเอ็มอีด้วยมาตรฐานที่เหมาะสมกับตลาดเป้าหมาย โดยการสร้างระบบการมาตรฐานเฉพาะ และได้ประกาศใช้แล้ว 41 เรื่อง ออกใบรับรอง มอก.เอส ให้ผู้ประกอบการแล้ว 11 รายต่อฉบับ ส่วนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานการระบายสารมลพิษจากเครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์ ตามข้อกำหนด EURO 4 ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ประกาศใช้อยู่ในสหภาพยุโรปในปัจจุบัน คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2562 นี้ และมาตรฐานการระบายสารมลพิษจากเครื่องยนต์ของรถยนต์นั่ง และรถกระบะ ตามข้อกำหนด EURO 5 โดยมาตรฐานฉบับนี้คาดว่าจะจัดทำแล้วเสร็จในปี 2562 และเมื่อผ่านกระบวนการทางกฎหมายแล้ว คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในต้นปี 2564 สำหรับการก่อสร้างศูนย์ทดสอบทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ มีความคืบหน้าตามลำดับ โดยโครงการระยะที่ 1 สนามทดสอบยางล้อ เพื่อใช้ทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 ในรายการเสียงจากยางล้อที่สัมผัสผิวถนน และการยึดเกาะถนนบนพื้นเปียก ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จและได้รับการรับรองจาก Applus+IDIADA ราชอาณาจักรสเปน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล ส่วนห้องปฏิบัติการทดสอบ เพื่อใช้ทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 ในรายการความต้านทานการหมุนและอาคารสำนักงาน จะก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปีนี้ ส่วนโครงการระยะที่ 2 ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน ประกอบด้วยสนามทดสอบกลางแจ้ง 5 สนาม คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการพร้อมเปิดให้บริการครบวงจรได้ในปี 2565