“กฤษฏา” สั่งเร่งจ่ายเงินค่าครองชีพไร่ละ 600 บาท ถึงมือเกษตรกรโครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อยช่วงแล้ง งดทำนาปรัง พร้อมดูแลใกล้ชิดเกษตรกรภาคประมง -ปศุสัตว์ ชี้ปัญหาภัยแล้งกินเวลาอีก 2 เดือน ส่อรุนแรงและยาวนาน ช่วยบรรเทาผลกระทบ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.62 นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดให้กรมส่งเสริมการเกษตร จ่ายค่าครองชีพให้ถึงมือเกษตรกร ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.)ที่เข้าร่วมโครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อยหลังฤดูกาลทำนา ไร่ละ 600 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ หรือ 7,000 บาทในพื้นที่4.87 ล้านไร่ หลังจากครม.มีมติช่วยเหลือกรอบวงเงิน 2,932ล้านบาท ให้เป็นปัจจัยการผลิตกับเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 13 ทุ่งและพื้นที่งดทำนาปรัง มาปลูกพืชผัก พืชไร่ ใช้น้ำน้อยช่วงฤดูแล้งนี้ซึ่งฤดูฝนมาช้า อาจไปถึงปลายเดือนพ.ค. ด้าน นายถาวร จิระโสภณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยมีสภาพอากาศที่แล้งแห้งและบางพื้นที่มีโอกาสเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งนายกฤษฎา กำชับทุกหน่วยงานดูแลและให้คำแนะนำเกษตรกรอย่างใกล้ชิด เพราะฤดูแล้งยังไปอีก2เดือน ขณะนี้ลักษณะอากาศในช่วงเวลากลางวันอุณหภูมิสูงซึ่งอาจทำให้อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เป็นสาเหตุให้สัตว์น้ำที่เกษตรกรเลี้ยงไว้เกิดความเครียด อ่อนแอ และตายได้ กรมประมงจึงได้จัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้ง ประจำปี 2562 เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ โดยมีการวางแผนช่วยเหลือไว้ 3 ระยะ คือ การเตรียมรับสถานการณ์ก่อนเกิดภัยแล้ง การช่วยเหลือขณะเกิดภัยแล้ง และการช่วยเหลือหลังเกิดภัยแล้ง โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ รวมทั้งหาวิธีการป้องกัน แก้ไข และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น “เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดิน หากจำเป็นต้องทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในหน้าแล้ง ควรคัดเลือกพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความแข็งแรง จากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ จัดเตรียมแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้เพิ่มเติม ส่วนการเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง ควรเลือกแหล่งน้ำที่ตั้งกระชังซึ่งมีระดับลึกเพียงพอ จัดวางกระชังให้เหมาะสม ไม่หนาแน่นจนเกินไป โดยกระชังควรสูงจากพื้นน้ำไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตรเพื่อให้น้ำถ่ายเทได้สะดวกตลอดเวลา ควรปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงเลี้ยงในปริมาณหนาแน่นน้อยกว่าปกติ ควรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และหากมีปัญหาในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สามารถขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด สัตว์น้ำชายฝั่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดทุกแห่งทั่วประเทศ” นายถาวรกล่าว ขณะที่ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานถึงผลกระทบจากสถานการณ์แล้งต่อภาคปศุสัตว์เพราะภาคปศุสัตว์ใช้น้ำน้อยกว่าเมื่อเทียบกับภาคการเกษตรอื่นๆ ส่วนกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์เชิงอุตสาหกรรม มีแหล่งน้ำเป็นของตนเองจึงไม่น่าห่วง แต่ที่ต้องเฝ้าระวัง คือเกษตรทั่วไป ซึ่งได้สั่งการไปยังปศุสัตว์อำเภอ ให้เข้าไปดูแลว่า มีกลุ่มไหนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แล้ง คาดว่า หลังจากเดือนเมษายนป็นต้นไปอาจเกิดปัญหากับสัตว์ใหญ่ เช่นโค กระบือ เป็นต้น ซึ่งเตรียมใช้รถขนน้ำเข้าไปช่วย กรมปศุสัตว์ ได้เตรียมความพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ที่ประสบภัยแล้งประจำปี 2562 โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยมีการเตรียมเสบียงสำรอง ไว้ที่คลังเสบียงของศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ (ศอส.) 32 แห่ง จำนวน 6,078.98 ตัน แบ่งเป็นหญ้าแห้ง 4,876.7 ตัน หญ้าหมัก 830.98 ตัน หญ้าสด 371.3 ตัน คลังเสบียงสัตว์ประจำตำบล 55 แห่ง เป็นหญ้าแห้ง 273 ตัน เสบียงเกษตรกร 482 ราย รวม 324,230.7 ตัน แบ่งเป็นหญ้าแห้ง 6,067.7 ตัน หญ้าหมัก 229,116 ตัน และหญ้าสด 89,046 ตัน นอกจากนี้ยังเตรียมยานพาหนะไว้ 201 คัน ถุงยังชีพ 3,000 ชุด หน่วยงานสัตวแพทย์เคลื่อนที่ 18 หน่วย โดยมีหน่วยอพยพสัตว์ และหน่วยเคลื่อนที่เร็ว 9 หน่วย 278 คน เตรียมเวชภัณฑ์ดูแลสุขภาพสัตว์ ประจำปศุสัตว์เขต 9 เขต ทั้งนี้ หากพบเห็นหรือเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติแล้ง ให้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากปศุสตว์ผ่าน ไลน์ ID : DLD Disaster center