ปีที่แล้วลดค่าไฟได้เกือบ 8 ล้านในชั่วโมงเดียวเท่านั้น ทั้งลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่าพันตัน ระบุ 10 ปีที่ทำกิจกรรมนี้ประหยัดไฟได้ถึง 65 ล้านบาท ปีนี้เชิญชวนร่วมพลังกันอีกครั้งปิดไฟที่ไม่จำเป็นเพื่อโลก ช่วง 2 ทุ่มครึ่งถึง 3 ทุ่มครึ่ง เมื่อวันที่ 20 มี.ค.62 นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม.เป็นประธานแถลงข่าวกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2019)” ชวนหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมกันปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน ในวันที่ 30 มี.ค.62 เวลา 20.30 – 21.30 น. โดยมีน.ส.พิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหารWWFประเทศไทย นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ว่าการกิจการองค์กรและสังคม การไฟฟ้านครหลวง ดร.พรชัย ด่านวิวัฒน์ ผอ.มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย) ร่วมแถลง ณ อาคารไอราวัตพัฒนา กทม. 2 เขตดินแดง รองผู้ว่าฯกล่าวว่า กิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+Earth Hour)” เริ่มครั้งแรกปี 50 และกทม.ได้ร่วมกิจกรรมครั้งแรกปี 51 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 12 แล้ว ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดจากการจัดกิจกรรมดังกล่าวคือ ในปี 61 มีองค์กรเข้าร่วม 121 แห่ง ในช่วงที่มีการปิดไฟ 1 ชั่วโมง พื้นที่กทม.สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 2,002 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงินประมาณ 7,860,000 บาท แต่สำคัญกว่านั้นคือ ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 1,026 ตัน ทั้งนี้ หากนับรวมการจัดกิจกรรมตั้งแต่ปี 51 – 61 สามารถลดใช้กระแสไฟฟ้าได้ 10,259 ตัน เป็นเงิน 64,780,000 บาท สำหรับปีนี้กทม.ได้ร่วมกับองค์กรต่างๆ 262แห่ง จัดกิจกรรมพร้อมกับ 188 ประเทศทั่วโลกในวันที่ 30 มี.ค.62 ณ บริเวณลานสแควร์ Cศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน ภายใต้แนวคิด “ปิดเพื่อโลกเปลี่ยนเพื่ออนาคต” เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยลดใช้พลังงาน ลดการใช้พลาสติก และรักษ์สิ่งแวดล้อม สำหรับปีนี้มีสถานที่ต่างๆ ร่วมปิดไฟในเชิงสัญลักษณ์ อาทิ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง วัดอรุณราชวรารามฯ เสาชิงช้า สะพานพระราม8 และภูเขาทอง (วัดสระเกศฯ) รวมถึงองค์กรภาครัฐ เอกชน กว่า 500 แห่ง และบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่เขตต่างๆ อีกทั้งกทม.จะปิดไฟถนนเขตละ 1 – 2 ถนน เท่าที่จำเป็นไม่ได้ปิดตลอดสาย คาดว่าจะลดการใช้ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 2,200 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ เชิญชวนประชาชนพร้อมใจกันปิดไฟที่ไม่จำเป็นใช้ในช่วงเวลา 20.30 – 21.30 น.โดยพร้อมเพรียงกัน