ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเบื้องต้น ต้องเตรียมทำน้ำอภิเษก โดยทำพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ มีการทำพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักร จำนวน ๑๐๗ แห่ง ตามโบราณราชประเพณี โดยทำพิธีพร้อมกันในวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๒ ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก ณ พระอารามสำคัญประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัด ๗๖ แห่ง ในวันที่ ๘ เมษายน และเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษกในวันที่ ๙ เมษายน จากนั้นทุกจังหวัดเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์จากจังหวัดมาตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อเสกน้ำอภิเษก ประกาศชุมนุมเทวดา ทำน้ำเทพมนตร์ เจริญพระพุทธมนต์ทำน้ำพระพุทธมนต์ รวมกับน้ำอภิเษกของกรุงเทพมหานคร(จากหอศาสตราคม พระบรมมหาราชวัง) ในวันที่ ๑๘ เมษายน และแห่เชิญน้ำอภิเษกของทุกจังหวัดทั้ง ๗๗ จังหวัด รวมทั้งน้ำเบญจสุทธคงคา (แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี) และน้ำจากสระ ๔ สระ (สระแก้ว สระเกษ สระคา สระยมนา ในจังหวัดสุพรรณบุรี) จากวัดสุทัศนเทพวรารามไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ ๑๙ เมษายน เพื่อพราหมณ์ประกอบพิธี ข้อมูลแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ๑๐๘ แห่ง และสถานที่ประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก ๗๖ จังหวัด และกรุงเทพมหานคร จากหนังสือ “ประมวลองค์ความรู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์ เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562