"7 กกต." เปิดศูนย์คัดแยกบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าโชว์มาตรฐานคัดแยก-ส่งบัตร สยบคำครหาไม่โปร่งใส พร้อมส่งหนังสือถึงพรรคการเมืองให้ส่งผู้แทนร่วมติดตามขบวนรถขนส่งบัตร ยันไม่พิมพ์ลายนิ้วมือต้นขั้วบัตรเลือกตั้งไม่ผิดกฎหมาย เหตุให้ใช้เฉพาะผู้ทุพพลภาพ-ผู้สูงอายุ สั่งฝ่ายกฎหมายตรวจโซเซียลใส่ร้ายดิสเครดิตกกต.ถ้าพบเจอดำเนินคดีแน่ วันที่ ‪18 มี.ค.62 ที่ศูนย์ปฏิบัติการการคัดแยกบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ส.ส. 2562 ที่ลงคะแนนแล้ว - นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมด้วยกรรมการการเลือกตั้งอีก 6 คน ได้นำสื่อมวลชนเข้าร่วมสังเกตการณ์การคัดแยกบัตรลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า เพื่อจัดส่งด้วยรถขนส่งไปรษณีย์ไปยัง 350 เขตเลือกตั้งปลายทาง โดยมีนางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทยจำกัด (ปณท.) และนายมานพ ศรวิบูลย์ศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการนครหลวง ปณท. อธิบายขั้นตอนการคัดแยกบัตรด้วยเครื่องคัดแยกอัตโนมัติ (OCR) และยังถูกตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำซ้ำอีก 2 ครั้งจากเจ้าหน้าที่ของ บ.ไปรษณีย์ไทย ซึ่งผลัดเวรกัน 3 ชุด ทำหน้าที่คัดแยกบัตรตลอด 24 ชัวโมง เพื่อจัดส่งบัตรเลือกตั้งไปยังเขตเลือกตั้งปลายทางก่อนวันที่ 24 มี.ค.นี้ สำหรับพื้นที่ชั้นในถูกกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม ผู้ที่จะเข้ามาปฏิบัติงาน ซึ่งจะเข้าถึงซองบรรจุบัตรเลือกตั้งจะต้องมีบัตรผ่านและถูกตรวจสอบด้วยระบบยืนยันตัวตนอย่างรัดกุม โดยนายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. กล่าวถึงการเลือกตั้งนอกเขต ว่า ขณะนี้มาครบเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว เหลือเพียงแค่เกาะสมุยที่จะส่งมาถึงพรุ่งนี้ ส่วนบัตรนอกราชอาราชจักรเหลือเพียงบัตรที่ลงระบบไปรษณีย์ ซึ่งจะมาถึงไม่เกินวันที่ 22 มี.ค.โดยเมื่อมาถึงแล้วไปรษณีย์จะทำการคัดแยก และจะเริ่มขนส่งบัตรไปยัง 350 เขต ซึ่งเลขาธิการกกต.จะมีหนังสือไปยังทุกพรรคการเมือง ว่าหากพรรคไหนจะส่งตัวแทนมาสังเกตการณ์การคัดแยกและการส่งบัตรสามารถแจ้งชื่อผู้แทนและมาร่วมสังเกตการณ์ผ่านโทรทัศน์วงจรปิดที่สำนักงานไปรษณีย์หลักสี่ได้ และสามารถขับรถตามรถขนส่งบัตรไปตามสถานที่ต่างๆ ได้ เพราะจะมีตำรวจและระบบจีพีเอสดูความเคลื่อนไหวไม่ให้ออกนอกเส้นทาง นายณัฏฐ์ ยังกล่าวถึงกรณีการใช้สิทธิครั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือที่ต้นขั้วบัตร ว่า ตามกฎหมายจะให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเซ็นชื่อที่ต้นขั้วบัตร เว้นแต่พิการ เขียนหนังสือไม่เป็นจึงจะให้พิมพ์ลายนิ้วมือ แต่กรณีออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา กกต.ขณะนั้นใช้เรื่องการพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นกิมมิกหรือจุดขายเพื่อเชิญคนออกมาออกเสียงประชามติ โดยต้นขั้วบัตรที่มีลายนิ้วมือหรือลายเซ็นต์จะถูกส่งให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบกรณีที่มีปัญหา แต่ปกติในการเลือกตั้งการให้เซ็นต์ที่ต้นขั้วอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาการยืนยันตัวตนการมาใช้สิทธิ เพราะการเซ็นต์ชื่อสามารถตรวจสอบได้เช่นเดียวกับลายนิ้วมือ นายณัฏฐ์ กล่าวถึงกระแสตำหนิกกต.เรื่องเจ้าหน้าที่แจกบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าผิดเขตให้กับผู้มาใช้สิทธิว่า ตนยังยืนยันว่าเราต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน การจะบอกว่ากรรมการประจำหน่วยบังคับว่ารับบัตรผิดก็ให้ลงคะแนนไปเถอะนั้น เห็นว่าเจ้าของสิทธิต้องรักษาสิทธิของตนเอง ณ ขณะนั้นในเชิงระบบ ไม่มีใครจะมาบังคับได้นอกจากเราสมยอม และเมื่อกาบัตรและหย่อนลงหีบแล้วจะให้ไปเปิดหีบในเชิงระบบเราต้องปล่อยให้เดินต่อไป จะให้เปิดหีบออกมาไม่ได้ เพราะไม่รู้ซองไหนผิด ถ้าจะเปิดต้องเป็นเหตุจำเป็นจริงๆในระหว่างการลงคะแนน การที่มีคนพูดว่าให้เอาเหตุการณ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซียและการเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 17 มี.ค.มาเป็นบทเรียนการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.นั้น มันเป็นหนังคนละเรื่องกัน เพราะวันที่ 24มี.ค.จะไม่มีบัตรของเขตอื่น “คนที่ออกมาพูดบางครั้งก็สะท้อนว่ามีความรู้ในสิ่งที่พูดหรือไม่ วันนี้คุณเป็นคนไทยต้องรู้จักรักษาสิทธิตัวเอง ถ้ารู้ว่าบัตรผิดต้องเอาบัตรที่ถูกของเรากลับมาให้ได้ จะมาบอกว่าคุณบังคับให้ฉันลงไม่ได้ ไม่มีใครบังคับได้นอกจากสมยอม” นายณัฏฐ์ กล่าวและว่า ส่วนกรณีบัตรเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิได้บัตรไม่ตรงกับเขต และมีการลงคะแนนไปแล้วนั้น จะรู้ว่าเป็นบัตรเสียหรือไม่ก็ในวันที่ 24 มี.ค. เมื่อกรรมการนับคะแนนตัดซองแล้ว แต่ปรากฎว่าบัตรเลือกตั้งไม่ตรงกับเขตที่เขียนไว้หน้าซองที่บรรจุบัตรมา เจ้าหน้าที่ก็จะขานเป็นบัตรเสีย ซึ่งก็รวมถึงบัตรเลือกตั้งนอกราช และบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ที่ไปถึงเขตเลือกตั้งล่าช้าหลังเวลา 17.00 น. ของวันที่ 24 มี.ค. ด้วย กฎหมายก็กำหนดให้เป็นบัตรเสีย เว้นแต่ในระหว่างคัดแยกนี้เจ้าหน้าที่พบว่า บัตรที่ส่งมาผิดเขต ผิดจังหวัด กฎหมายกำหนดให้ส่งกลับไปยังเขตที่ถูกต้อง ส่วนข้อกังวลที่ว่าจะมีการนำบัตรนอกเขต นอกราชอาณาจักรหรือบัตรปลอมมาเพิ่มในวันที่ 24 มี.ค.ขอชี้แจงว่าบัตรแต่ละแบบแยกสีชัดเจน มีรหัสควบคุมของตัวเอง 5 ชุดและมีเลขาธิการกกต.กำหนดและรู้เพียงคนเดียว กกต.อยากจะผลิตเป็นบัตรเฉพาะแต่มีต้นทุนสูง แต่ก็พยายามแยกด้วยสี ขณะที่พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของ กกต. ในโซเชียลมีเดียหากพบว่ามีการบิดเบือนใส่ร้ายหรือเจตนาเพื่อสร้างกระแสจะให้ฝ่ายกฎหมายของ กกต.ดำเนินคดี ส่วนกรณีมีคลิปซื้อเสียงที่จ.อุบลราชธานี ทางผอจ.อุบลราชธานี ได้แจ้งว่าเป็นเรื่องที่สั่งรับไว้สืบสวนสอบสวนไว้ตั้งแต่เดือนก.พ. สำหรับกรณีตรวจพบการกระทำอาจส่อทุจริตการเลือกตั้งในจังหวัดสมุทรสงครมได้สั่งให้พนักงานสืบสวนสอบสวนไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เบื่องต้นเข้าใจว่ามาเป็นการใช้สิทธิ์ครั้งแรกและหยิบเอาบัตรเลือกตั้งเข้าไปในคูหาทั้งเล่ม เมื่อนำไปกาเสร็จแล้วก็นำมาส่งให้เจ้าหน้าที่ แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังไม่เป็นที่สิ้นสุด ต้องรอฟังผลจากชุดสืบสวนสอบสวนเสียก่อน เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการพิจารณาตุณสมบัติของกกต.กรณีเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า น่าจะเป็นพรุ่งนี้ที่ฝ่ายกฏหมายจะทำความเห็นเพราะขณะนี้ยังไม่ได้รับความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษากฏหมาย