ผลพวง “เศรษฐกิจซบเซา” ในช่วงที่ผ่านมา ต้องบอกว่า “สาหัส” เพราะซัดกระหน่ำ แผลงฤทธิ์ พ่นพิษ จนทำเอา “เศรษฐกิจถดถอย” กันไปในหลายประเทศแทบจะทั่วโลก เกือบทุกภูมิภาค ไม่เว้นกระทั่ง “ยุโรปเหนือ” อันประกอบด้วย นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก และฟินแลนด์ เป็นอาทิ ซึ่งเป็นภูมิภาครุ่มรวย เลื่องชื่อเรื่องการจัดสรรสวัสดิการให้แก่ประชาชน ยังต้อง “จนลง” กันไปถนัดใจ ไม่ผิดอะไรกับ เศรษฐีกระเป๋าตุง แต่ถูกพิษเศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง ไล่รุมถลุงจนกลายเป็นเศรษฐีกระเป๋าแฟบ ไปในพริบตา อย่างไรอย่างนั้น โดยผลกระทบนอกจากกระเทือนต่อการขับเคลื่อนกิจกรรม กระบวนการทางเศรษฐกิจ มิให้เดินหน้าพาทะยานไปได้ดังใจหวังแล้ว ก็ยังส่งแรงกระเพื่อมไปถึงการดำเนินโครงการก่อสร้างและพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หรืออินฟราสตรักเจอร์ใหญ่น้อยภายในประเทศด้วย ซึ่งบรรดากลุ่มชาติยุโรปเหนือ ก็เผชิญกับอุปสรรคที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ ด้วย และก็เป็นเหตุให้เป็นช่องว่าง สบโอกาส ของ “พญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่” ได้ “สยายกรงเล็บ” อันเป็นวาทกรรม กระเทียบเปรียบเปรยหมายถึง “การขยายอิทธิพล” ของทางการปักกิ่ง เข้าไปในบรรดาประเทศภูมิภาคยุโรปเหนือ เหมือนกับเหล่าประเทศของภูมิภาคอื่นๆ ที่พญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ รุกขยายอิทธิพลในลักษณะทำนองนี้คล้ายๆ กัน คือ “การทูตเงินกู้” หรือ “การทูตกับดักหนี้” ด้วยการปล่อยกู้เม็ดเงินลงทุนแก่ประเทศเหล่านี้ สะพานฮาโลกาแลนด์ ใกล้นครนาร์วิก เมืองท่าของประเทศนอร์เวย์ ยิ่งการที่ทางการปักกิ่ง ลุยขับเคลื่อนโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ “เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21” หรือที่หลายคนเรียกกันฮิตติดปากว่า “วัน เบลท์ วัน โรด (One Belt One Road)” พญามังกรจีนก็ยิ่งรุกหนักสำหรับการขยายอิทธิพลทั้งในส่วนพื้นที่ที่เรียกว่า “มีนา” อันเป็นภูมิภาคคาบเกี่ยวกันระหว่างตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ (MENA : Middle East and North Africa) นอกจากนี้ ก็ยังรุกเข้าไปในยุโรปอีกต่างหากด้วย โดยพญามังกรจีน รุกคืบเข้าไปไม่ว่าจะเป็นด้านยุโรปใต้ ที่เข้าไปทุ่มทุนร่วมสร้าง “ท่าเรือไพรีอัส” ในแคว้นอัตติกะ กรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซ ซึ่งมีขึ้นไปก่อนหน้า หลังจากนั้น จีนแผ่นดินใหญ่ ก็รุกขยายขึ้นไปทางตอนเหนือของยุโรป คือ ตั้งแต่อดีตประเทศบริวารเก่าของสหภาพโซเวียตรัสเซีย อย่าง “เอสโตเนีย” เป็นอาทิ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มรัฐบอลติก คือ ประเทศที่อยู่รายรอบทะเลบอลติก ต่อเนื่องไปถึงย่านคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย ที่กอปรด้วยฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก และนอร์เวย์ ชนิดที่เรียกได้ว่า บุกไปจนแทบจะถึงเหนือสุดของทวีปยุโรปกันเลยทีเดียว คนงานของ “กลุ่มเสฉวนถนนและสะพาน (Sichuan Road and Bridge Group)”หรือ “เอสอาร์บีจี” จากจีนแผ่นดินใหญ่ กำลังถ่ายภาพสะพานฮาโลกาแลนด์ ที่พวกเขาร่วมก่อสร้าง ทั้งนี้ สำเร็จเสร็จสิ้นเป็นชิ้นผลงานโบว์แดงไปแล้วนั้น ก็ได้แก่ แผนการร่วมโครงการก่อสร้าง “สะพานฮาโลกาแลนด์” หรือที่หลายคนเรียกว่า “สะพานอาร์ติกเมกะ” ซึ่งสะพานดังกล่าว เป็น “สะพานแขวน” ที่มีขนาดความยาว 1,533 เมตร สูง 54.86 เมตร ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองนาร์วิก นครเมืองท่าสำคัญเมืองหนึ่งของประเทศนอร์เวย์ โดยแผนการร่วมโครงการก่อสร้างข้างต้น ก็จะถือเป็นปฏิบัติการ “ปักหมุด” ครั้งสำคัญ ในการขยายอิทธิพลในยุโรปเหนือ ที่อยู่เหนือเส้นอาร์กติกเซอร์เคิลขึ้นไป ไม่นับเรื่องที่เป็นพื้นที่สำคัญด้านการเดินเรือ ในฐานะที่เป็น “เมืองท่า” ของดินแดนไวกิงแห่งนี้ พร้อมใช้เป็นเส้นทางเชื่อมกับทางหลวง “อีซิกซ์ ไฮเวย์ (E6 Highway) อันเป็นหนึ่งในถนนทางหลวงที่ใช้สัญจรระหว่างนอร์เวย์ไปยังชายฝั่งตะวันตกของสวีเดนอีกด้วย โดยทางการปักกิ่ง ได้ส่ง “กลุ่มเสฉวนถนนและสะพาน (Sichuan Road and Bridge Group)”หรือ “เอสอาร์บีจี” อันเป็นกลุ่มบริษัทที่คร่ำหวอดอยู่กับงานก่อสร้างถนนและสะพานในจีนแผ่นดินใหญ่ ไปลุยงานที่แดนไวกิง คนงานชาวนอร์เวย์และชาวจีน ร่วมฉลองเปิดสะพานฮาโลกาแลนด์ ล่าสุด รัฐบาลปักกิ่ง ก็ได้ส่งคณะผู้บริหาร “ทัชสโตน แคปิตอล พาร์ทเนอร์ส” หนึ่งในบริษัทที่ดำเนินการด้านการลงทุน มาจรดปากกาลงนามใน “บันทึกข้อตกลง” หรือ “เอ็มโอยู” กับกลุ่มบริษัทในฟินแลนด์ อย่าง “ไฟเนสต์ เบย์ แอเรีย เดเวลอปเมนต์” สำหรับการเข้าร่วมใน “โครงการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟเฮลซิงกิ - ทาลลินน์” มูลค่าของโครงการฯ ก็มากถึง 1.5 หมื่นล้านยูโร หรือ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีรายละเอียดของการระดมเม็ดเงินลงทุนเพื่อการก่อสร้างข้างต้น ก็จะมีเม็ดเงินจากภาคเอกชนมาเป็นทุนราว 1 ใน 3 คือ 5 พันล้านยูโร ส่วนที่เหลืออีก 2 ใน 3 คือ 1 หมื่นล้านยูโร ก็มาจากการกู้ยืม ซึ่งก็มิใช่ที่ไหนอื่น แต่มาจากพญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ ที่กำลังอู้ฟู่ ร่ำรวยเงินถุง เงินถัง ณ ชั่วโมงนี้ นั่นเอง แผนที่โดยสังเขปแสดงเส้นทางโครงการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟใต้ทะเลผ่านอ่าวฟินแลนด์ เชื่อมการสัญจรระหว่างกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ กับกรุงทาลลินน์ ประเทศเอสโตเนีย แม้ว่า “อุโมงค์รถไฟ” โครงการนี้ ซึ่งจะเรียกได้ว่า เป็นอุโมงค์รถไฟแล่นผ่านใต้ทะเลบอลติกเป็นแห่งแรก ระยะทาง 103 กิโลเมตร ยาวที่สุดในโลก ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานแวนตา ในกรุงเฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ ไปยังท่าอาศยานทาลลินน์ ในกรุงทาลลินน์ ประเทศเอสโตเนีย จะสร้างความสะดวกสบายให้แก่ประชาชนผู้สัญจร เพราะช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางที่จากเดิมต้องนั่งเรือเฟอร์รีข้ามอ่าวฟินแลนด์ ใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง มาเป็นรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ใช้เวลาเพียง 20 นาที เท่านั้น แต่ทว่า ก็นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่จะตามมา ที่หลายฝ่ายเป็นห่วงเรื่อง “กับดักหนี้” ที่จะภาระแก่ประเทศเหล่านี้ รวมถึงชาติมหาอำนาจตะวันตกก็วิตกกังวลถึงเรื่องอิทธิพลของพญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ ที่รุกขยายเข้ามาในยุโรปมากขึ้นทุกขณะ