สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มลามในหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน กรมชลประทานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำรถบรรทุกน้ำและเครื่องจักร เครื่องมือเข้าไปช่วยเหลือราษฎรอย่างเต็มศักยภาพแล้ว เมื่อวันที่ 15 มี.ค.62 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(15 มี.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 48,643 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 24,716 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 13,861 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 7,165 ล้าน ลบ.ม. สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งทั่วประเทศ จากการติดตามอย่างต่อเนื่อง พบว่าบางพื้นที่เริ่มขาดแคลนน้ำแล้ว กรมชลประทาน จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ดำเนินการหาทางป้องกัน ช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับราษฎร อาทิ ที่จังหวัดปราจีนบุรี โครงการชลประทานปราจีนบุรี ร่วมกับส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 5 จัดส่งเครื่องจักรกล เครื่องมือ พร้อมเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการขุดลอกคลองพระปรง อำเภอกบินทร์บุรี ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำปราจีนบุรี ระยะทาง 18 กิโลเมตร เพื่อป้องกันและบรรเทาการขาดแคลนน้ำ ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงฤดูฝนได้อีกด้วย ส่วนที่จังหวัดพิษณุโลก นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก จากการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พบว่าสภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักและคลองธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำวังทอง และแม่น้ำแควน้อย มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย ซึ่งเป็นไปตามภาวะปกติของฤดูแล้ง ในขณะที่ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ ทั้งเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อย แม้จะมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ และเพียงพอที่จะสนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำในเขตชลประทานตลอดฤดูแล้งนี้ แต่จะเน้นเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก ส่วนการเกษตรต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกร ให้งดทำนาปรังต่อเนื่อง(นารอบที่ 3) เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ มีแนวโน้มจะยาวนานกว่าทุกๆปีที่ผ่านมา ตามที่หน่วยงานต่างๆได้ประกาศแจ้งเตือนไว้ ทั้งนี้ ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด(อพก.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ เพื่อเตรียมความพร้อมและบูรณาการทุกหน่วยงาน ร่วมกันหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้ โดยได้กำหนดมาตรการในการรับมือไว้ดังนี้ ในพื้นที่ อ.นครไทย ได้ดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำ 6 แห่ง , พื้นที่ อ.บางระกำ ร่วมกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย-เขต 9 ทำการสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในพื้นที่หมู่ที่ 6 ,9 ต.คุยม่วง และหมู่ที่ 1–2 ต.ชุมแสงสงคราม พื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ รวมไปถึงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการทำฝายกั้นน้ำชั่วคราว(กระสอบทราย)กั้นแม่น้ำยม ในพื้นที่หมู่ที่ 10 ต.ท่านางงาม และหมู่ที่ 2 ต.บางระกำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ , ส่วนในพื้นที่ อ.พรหมพิราม ได้ทำการเป่าล้างบ่อบาดาล ในพื้นที่ 11 ตำบล 51 หมู่บ้าน รวม 92 บ่อ และซ่อมแซมระบบประปาหมู่บ้าน รวม 10 ตำบล 44 หมู่บ้าน รวม 57 แห่ง และในพื้นที่ อ.ชาติตระการ ได้ทำการเป่าล้างบ่อบาดาล ในพื้นที่ 2 ตำบล 14 หมู่บ้าน รวม 34 บ่อ พร้อมกับซ่อมแซมระบบประปาหมู่บ้าน ในพื้นที่ 2 ตำบล 16 หมู่บ้าน รวม 25 แห่ง นอกจากนี้ กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ยังเตรียมพร้อมรถยนต์บรรทุกน้ำ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับราษฎรในพื้นที่ ที่อาจจะเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ รวมไปถึงการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรได้อย่างทันท่วงที จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในยามขาดแคลนให้มากที่สุด ทั้งนี้ ประชาชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถประสานขอความช่วยเหลือเรื่องน้ำได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือ โทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 หรือ FB : เรารักชลประทาน ได้ตลอด 24 ชั่วโมง