เสกสรร สิทธาคม [email protected] “1) มีทัศนคติที่ดีที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง 3) มีคุณธรรม และ 4) มีงาน มีอาชีพ สามารถเลี้ยงตนเองเลี้ยงครอบครัวได้และเป็นพลเมืองที่ดี” พระราโชบายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการศึกษามุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน โครงงานวิทยาศาสตร์ของนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร(วท.กำแพงเพชร)ที่เสนอมาเน้นให้ชัดอีกทีว่าเป็นผลสำเร็จเบื้องต้น ในอนาคตมีความเป็นไปได้ถึงพัฒนาการด้วยเทคโนโลยีเกิดนวัตกรรมใหม่ๆที่ให้ประโยชน์อันทรงคุณค่าแก่เกษตรกรปลูกกล้วยไข่อีกมหาศาล ผลสรุปที่บอกเล่ามาเป็นพัฒนาการหลักการดำเนินชีวิตดีงามตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริและสนองพระมหากรุณาธิคุณพระราโชบายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปลูกฝังเยาวชนเป็นคนดีเติบโตเป็นพลังสร้างสังคมดีงาม ผ่านการปลูกฝังหล่อหลอมการรู้จักทำงานร่วมกันด้วยความรักสามัคคีมีเมตตา ได้ฝึกฝนความขยันหมั่นเพียร การรู้จักให้ รู้จักความกตัญญูอันเป็นรากฐานคนไทย สังคมไทย อันเป็นความสำนึกของผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ที่จะอบรมบ่มนิสัยเยาวชนเป็นคน สืบสานพระราชปณิธานสร้างคนดีให้สังคม ผ่านการศึกษาค้นคว้าปัจจัยที่เอื้อประโยชน์ต่ออาชีพหลักของท้องถิ่นที่เป็นผลผลิตอินทรีย์เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม และมีส่วนร่วมการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติด้วยตระหนักถึงความสำคัญนำไปสู่ความรักความห่วงแหนและก่อประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ผ่านโครงงานวิทยาศาสตร์ศึกษาทดลองปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์วัสดุที่มูลค่าต่ำในท้องถิ่นจนก่อเกิดมูลค่าเพิ่ม คุณค่าเพิ่มมหาศาลกับสังคมสภาพแวดล้อมได้มูลวัวแห้งสร้างผลผลิตกล้วยไข่พันธุ์กำแพงเพชรคือกำหนดสีและความหวานตามที่วางเป้าหมายไว้ ซึ่งเน้นย้ำมาตลอดว่าเป็นผลสรุปเบื้องต้นแห่งความสำเร็จในการศึกษาทดลองของนักศึกษาวท.กำแพงเพชร ที่บวกกับองค์ประกอบองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ไม่ว่าน้ำ อากาศในท้องถิ่นอย่างจังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย พิจิตรหรือแม้แต่ที่จังหวัดเพชรบุรีที่มีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกัน ครูเอ๋ หรือครูพิมลพรรณ พรหมทอง ที่นำนักเรียนนักศึกษาคิดค้นทดลองศึกษาชนิดของปุ๋ยอินทรีย์ต่างชนิดกัน ย้ำในตอนท้ายอีกหนว่า มูลสุกรเปียก มูลสุกรแห้ง มูลสุกรแห้งมาก มูลวัวเปียก มูลวัวแห้ง มูลวัวแห้งมาก และมูลไก่เปียก มูลไก่แห้ง และมูลไก่แห้งมาก ให้นศ.ที่รวมกลุ่มสามคนดำเนินโครงการนำมูลสัตว์ทุกชนิดแบบทดลองในแปลงจริง ในอัตรา 1 กิโลกรัม ผสมกับ น้ำ 1 ลิตร ราดให้ห่างบริเวณโคนต้น ระยะ 30 เซนติเมตร ทุกๆ 30 วัน แล้วเก็บข้อมูลบันทึกหาค่าเฉลี่ยผลการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไข่แต่ละต้น ทุกๆ สัปดาห์ เป็นระยะเวลา 8 เดือน การทดลองระยะแรกเพื่อหาคำตอบให้ได้ว่า มูลสัตว์ชนิดใด แบบใดมีความเหมาะสม ช่วยให้ต้นกล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชรมีการเจริญเติบโตในส่วนที่เป็นลำต้น (ความสูง ความอวบใหญ่) และส่งผลดีต่อระยะเวลาการออกหน่อ จำนวนหน่อ ระยะเวลาการออกปลีและจำนวนหวีต่อเครือ ครูเอ๋ พร้อมลูกศิษย์บอกว่า ปุ๋ยอินทรีย์แต่ละชนิด มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไข่แตกต่างกันออกไป ผลงานที่ทดลองจนได้ผลตามต้องการอย่างชัดเจนทำให้ได้รางวัลสมาคมวิทยาศาสตร์-อาชีวศึกษา-เอสโซ่ ปี 2560และก็ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ระดับประเทศ มาอีกครั้งโครงงานนี้จึงทำให้รู้ว่า หากเกษตรกรต้องการเพิ่มปริมาณผลผลิตอย่างใด ควรใช้ปุ๋ยชนิดใด หากต้องการเพิ่มปริมาณจำนวนหวีต่อเครือควรใช้ปุ๋ยแบบไหนบำรุงในช่วงเวลาใด เป็นต้น และที่สำคัญจากผลการทดลองโครงงานนี้ตามที่วางเป้าหมายแยกออกไป ยังทำให้รู้อีกว่า ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดใดที่ให้ค่าสีและค่าความหวานของผลกล้วยไข่ นับเป็นความคุ้มค่าที่สุดของการศึกษาทดลองพอสตรจนชัดเจนถึงผลสรุปเบื้องต้น “ปุ๋ยมูลวัวแบบแห้ง” ตอบโจทย์ให้ค่าสีและค่าความหวานของกล้วยไข่ดีและลงตัวที่สุด การส่งเสริมสนับสนุนโครงการวิจัยวิทยาศาสตร์โดยน้อมนำหลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรและสนองพระราโชบายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อสร้างเยาวชนเติบโตเป็นคนดีของบ้านเมือง มีความรู้มีความสามารถทางอาชีพไม่ได้หยุดนิ่ง ในปีต่อมา 2561 ดำเนินการต่อยอดจากโครงงานที่แล้วภายใต้ชื่อเรื่อง “การศึกษาการใช้ชนิดของปุ๋ยอินทรีย์เพื่อไปกำหนดค่าสีและค่าความหวานของกล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชร” ระดับ ปวส. และก็ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ระดับประเทศ มาอีกครั้ง นั่นคือบทสรุปที่เกริ่นมาตั้งแต่ต้นจนถึงบรรทัดนี้ที่คณะนศ.วท.กำแพงเพชรทำโครงงานวิทยาศาสตร์ทดลองปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์ 3 ชนิดเพื่อผลคือกำหนดสีและความหวานของกล้วยไข่พันธุ์กำแพงเพชรว่า ปุ๋ยอินทรีย์ “มูลวัวแบบแห้ง” มีความเหมาะสมในการนำไปใช้เพื่อให้มีค่าสีของเปลือกกล้วยไข่ที่สวยงาม และได้ค่าความหวาน รสชาติอร่อยตามต้องการของตลาดมากกว่าการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดอื่นๆ การประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่งดังกล่าวข้างต้นล้วนเกิดจากการตั้งมั่นสืบสานพระราชปณิธานเดินแนวพระราชดำริหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอันเป็นนโยบายรัฐบาลที่วางไว้ให้แวดวงสถานศึกษาน้อมนำศาสตร์พระราชาพัฒนาองค์ความรู้พัฒนาฝีมืออาชีพเพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน