ยังคงถูกยกให้เป็นกระแสฮอตฮิต ติดลมบน ที่ผู้คนนิยมกันทั่วโลก ซึ่งนับวันมีแต่จะเพิ่มความต้องการใช้กันอย่างมากขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณ และสาขาขอบเขตงานด้านต่างๆ อย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยถอยลงไปแต่ประการใด สำหรับ หุ่นยนต์ สมองกล อุปกรณ์อันแยบยลเรืองเชาวน์ปัญญา โดยสิ่งประดิษฐ์จากมันสมองของมนุษย์เรา อันล้ำด้วยเทคโนโลยีและวิทยาการสิ่งนี้ ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นประการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการ "ทุ่นแรง" ของแรงงานมนุษย์เรา เช่น ช่วยยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อให้ได้ปริมาณมากๆ ภายใต้เงื่อนไขเวลาอันจำกัด อาทิ การประกอบรถยนต์ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ช่วยลดอันตรายจากการทำงานในพื้นที่เสี่ยง เช่น การทำความสะอาด หรือการประกอบวัสดุอุปกรณ์ในพื้นที่สูงชัน เป็นต้น ไม่เว้นกระทั่งด้านการรักษาความปลอดภัย ดูแลความมั่นคง ในฐานะ "รั้วนอก" ที่เปรียบเสมือนเป็น "ทหารหาญ" ชั้นดี ที่เฝ้าระวังต่อตีกับมวลหมู่ปัจจามิตรที่เข้ามาในยามรุกรบ เช่น การใช้ "โดรนขับไล่" ของกองทัพญี่ปุ่น เป็นต้น หรือในฐานะ "รั้วใน" คือ "ตำรวจ" ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ที่ปฏิบัติหน้าที่คอยดูแลบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎร มิให้เหล่ามิจฉาชีพกล้ำกราย โดยในส่วนของ "รั้วใน" คือ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ดังที่ว่า ได้มีบางประเทศเริ่มนำ "หุ่นยนต์ตำรวจ" หรือที่เรียกว่า "โรโบคอป" ตามที่เคยฮิตติดปาก เพราะเคยถูกจินตนาการสร้างเป็นภาพยนตร์เป็นขึ้นมา ได้ปรากฏโฉมบนโลกแห่งความเป็นจริงขึ้น ล่าสุด เป็นรายประเทศของ "สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์" ก็ได้มีกำหนดการให้ปี 2560 นี้ เป็นศักราช "ดีเดย์" ปล่อยแถวขบวน "ตำรวจสมองกล" ออกปฏิบัติการพิทักษ์สันติราษฎร์ รักษาความสงบสุขแก่ราษฎรในนคร "ดูไบ" เปิดประเดิมเป็นปฐม โดยการตบเท้าเข้าแถวออกปฏิบัติที่จะมีขึ้นข้างต้น มีขึ้นภายหลังจากก่อนหน้าเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา บรรดาโรโบคอปเหล่านี้ ซึ่งมีนามกรเรียกขานว่า "มีโอ (MEO)" ได้โชว์ประสิทธิภาพให้แก่ผู้ที่มาเที่ยวงาน "จีเท็กซ์ (GITEX : Gulf Information Technology Exhibition)" นิทรรศการเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอที ของกลุ่มประเทศอ่าว อันหมายถึง นานาประเทศรอบอ่าวเปอร์เชีย ภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้ชมเป็นขวัญตากันมาคำรบหนึ่งแล้ว ประสิทธิภาพของ "มีโอ" ที่สาธิตสำแดงให้เหล่าผู้มาเที่ยวงานได้ยลจนเรียกเรียกเสียงฮือฮากันอย่างขรมนั้น ก็เริ่มจากการส่งเสียงทักทาย ทำวันทยหัตถ์ และจับไม้จับมือ ผู้คน ได้อย่างแคล่วคล่อง ราวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ส่วนการมอนิเตอร์ เฝ้าดูบุคคล เจ้า "มีโอ" ก็สามารถใช้อุปกรณ์ "กล้องตรวจการณ์" ซึ่งติดมาส่วนที่เป็น "ตา"มองเห็นบุคคลได้ไกลถึง 10 - 20 เมตร โดยคุณตำรวจสมองกล "มีโอ" สามารถกล่าวทักทายผู้คนที่ยืนห่างออกไปด้วยระยะห่างดังกล่าวได้อย่างสบายๆ นอกจากมอนิเตอร์ มองเห็นได้ไกลแล้ว ก็ยังสามารถบันทึกภาพ หรือเรียกดูภาพย้อนหลัง ในสิ่ง และบุคคล ตลอดจนเหตุการณ์ที่ ตำรวจปัญญาประดิษฐ์ "มีโอ" มอนิเตอร์ในพื้นที่ที่เขาออกปฏิบัติการได้ด้วย ดังนั้น จึงสามารถช่วยตำรวจที่เป็นมนุษย์ ในการเป็น "หลักฐาน" และเป็น "พยาน"ได้เป็นอย่างดี ชนิด "ดิ้นไม่หลุด" หากเกิดเหตุการณ์ทางคดีความ หรือมีอาชญกรรมขึ้นในพื้นที่ "รัศมีทำการ" ของหุ่นยนต์ตำรวจ "มีโอ" ใช่แต่เท่านั้น หากเกิดเหตุอาชญากรรมขึ้น ประชาชนพลเมืองดี สามารถใช้โรโบคอป "มีโอ" เป็นอุปกรณ์เครื่องมือแจ้งผ่านไปยังสถานีตำรวจ หรือหน่วยตำรวจที่อยู่ใกล้เคียงได้อีกด้วย เพื่อให้ "ตำรวจมนุษย์" ระดมกำลังรุดมาระงับเหตุได้อย่างทันการณ์ โดยผู้ที่ต้องการแจ้ง ก็สามารถทำได้ด้วยการ "สัมผัสหน้าจอ" หรือ "ทัชสกรีน" ที่หน้าจอ พิมพ์รายงานส่งผ่านไปให้สถานีตำรวจ หรือหน่วยตำรวจใกล้เคียงได้เลย จะเรียกว่า เป็นการแจ้งความผ่านทางหน้าจอ คล้ายกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ก็ว่าได้ โดยหน้าจอที่เป็นทัชสกรีนในลักษณะนี้ นอกจากใช้แจ้งความ หรือรายงานเหตุอาชญากรรมได้แล้ว ก็ยังสามารถใช้เป็นช่องทางติดต่อธุรกรรมกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจัดการกับบางคดีได้ด้วย โดยเฉพาะคดีที่มีโทษปรับ เช่น การเสียค่าปรับจากการทำผิดกฎจราจร เป็นต้น ผู้ถูกปรับ สามารถจ่ายค่าปรับผ่านหุ่นยนต์ตำรวจ "มีโอ" ได้ด้วย ไม่ต้องเดินทางไปจ่ายค่าปรับที่สถานีตำรวจให้เสียเวลา โดยหากเห็นตำรวจหุ่นยนต์ "มีโอ" ออกกปฏิบัติการที่ไหน ก็สามารถเข้าไปจ่ายค่าปรับได้เลย ทั้งนี้ นอกจากการสั่งงานผ่านระบบ "ทัชสกรีน" แล้ว การใช้ "เสียงสั่งงาน" ทางหุ่นยนต์ตำรวจ "มีโอ" ก็สามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับการติดตั้งโปรแกรมที่ทางตำรวจในพื้นที่กำหนดไว้ พ.ต.ต.อัดนัน อาลี หัวหน้าหน่วยนวัตกรรมเทคโนโลยีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เปิดเผยว่า กระบวนการทำงานของ "มีโอ" ขับเคลื่อนด้วยระบบปฏิบัติการ "แอนดรอยด์" ซึ่งได้รับการพัฒนาร่วมกันจากหลายองค์กรสถาบันด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอที ได้แก่ "ไอบีเอ็ม" ที่นำ "ซูเปอร์คอมพิวเตอร์" ซึ่งมีความเร็วด้านการประมวลผลมาเป็นพื้นฐาน "วัตสัน" และ "กูเกิล" ซึ่งมีความสามารถเสิร์ชเอนจิน นอกจากนี้ ก็มี "หัวเหว่ย" เจ้าแห่งเทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคมจากจีนแผ่นดินใหญ่มาร่วมด้วย ส่วนมูลค่าของหุ่นยนต์ตำรวจ "มีโอ" ก็อยู่ที่ตัวละ 1.8 ล้านเดอร์แฮม แต่ก็ถือว่า คุ้มครองกับผู้ช่วยตำรวจปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสามารถลาดตระเวนร่วมกับตำรวจมนุษย์เราเป็นๆ แบบไปไหน ไปกัน ถึงไหน ถึงกันได้ ทางด้าน คณะนักวิทยาศาสตร์ผู้ร่วมพัฒนาหุ่นยนต์ตำรวจ "มีโอ" ยังเผยด้วยว่า พื้นฐานหลักการทำงานของ "มีโอ" ก็พลิกแพลงมาจาก "วีโซ" หุ่นยนต์ที่มีความสามารถหลากหลาย ทั้งในด้านพยาบาล การผจญเพลิง และการทำหน้าที่เป็นพนักงานต้อนรับ โดยในปี 2560 ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีกำหนดการส่ง "มีโอ" ลงพื้นที่พิทักษ์สันติราษฎร์ย่านสำคัญๆ ก่อน ได้แก่ ตึกเบิร์จคาลิฟะห์ ย่านจีพีอาร์ซิตีวอล์ค และในอีก 3 ปี ข้างหน้า หรือราวปี 2563 ก็จะให้เจ้า "มีโอ" ออกปฏิบัติการร่วมกับตำรวจมนุษย์เราตัวเป็นแบบครอบคลุมทั่วประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กันเลยทีเดียว ทั้งนี้ ในนครดูไบ นอกจากตำรวจหุ่นยนต์ "มีโอ" แล้ว ก็ยังมีแผนการส่งฝุงหุ่นยนต์ที่ชื่อ "ซาอาดาห์" ออกไปประจำการในท่าอากาศยานนานาชาติของนครดูไบด้วย ซึ่งหุ่นยนต์ที่ว่า จะปฏิบัติหน้าที่ทักทายนักท่องเที่ยวที่ลงมาจากเครื่องบินโดยสาร รวมถึงช่วยตรวจตราผู้โดยสาร โดยมันสามารถสแกนใบหน้าของผู้เดินทางที่ผ่านหน่วยตรวจคนเข้าเมือง ในการเปรียบเทียบกับเอกสารการเดินทางได้อย่างแม่นยำอีกด้วย ว่ากันถึงการใช้ตำรวจปัญญาประดิษฐ์ทำงานร่วมกับตำรวจมนุษย์เรานั้น ในหลายประเทศเริ่มแปรขบวนจัดแถว ให้ออกปฏิบัติการร่วมกันแล้ว เช่น สหรัฐฯ ที่คลีฟแลนด์ ใช้หุ่นยนต์ "สเกาต์บอต" ร่วมปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยในการประชุมใหญ่พรรครีพับลิกันที่ผ่านมา รวมถึงที่จีนแผ่นดินใหญ่ ก็ใช้ "เออร์บัน คอมแบต โรบอต" ร่วมปราบปรามโจรร้ายกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในพัฒนาการที่ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัย ดูแลความสงบสุขประชาชนของมนุษย์เรา พร้อมๆ กับการจับให้ได้ ไล่ให้ทัน ในเหล่าอาชญากรสมัยใหม่ที่ใช้ความไฮเทคก่ออาชญากรรมอย่างล้ำสมัยเป็นประการต่างๆ ด้วยเช่นกัน