อีกโรคที่นอกจากอันตราย ยังสร้างความทุกข์ทรมานให้กับคนที่เป็น กว่าก็จะรู้ก็เมื่อสาย... ทั้งนี้ มีเรื่องที่ควรเข้าใจเกี่ยวกับโรคไตกันเสียใหม่ ว่าไม่ใช่เกี่ยวกับการกินเค็มมากเกินไปเท่านั้น นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ความรู้โรคนี้ว่า โรคไตเป็นอาการหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณไต ทำให้การทำงานเพื่อขับของเสียออกจากร่างกายและการรักษาความสมดุลของเกลือ รวมถึงน้ำในร่างกายเกิดภาวะขัดข้อง โรคที่เกิดขึ้นกับไตมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ได้แก่ ไตวายฉับพลัน ไตวายเรื้อรังที่อาจเกิดจากโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตอักเสบ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะที่เป็นบ่อยๆ โรคถุงน้ำที่ไต ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยครั้ง หรือเกิดจากการอุดตัน เช่น จากนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต หรือมะเร็งมดลูกไปกดเบียดท่อไต เป็นต้น โดยโรคถุงน้ำที่ไตสามารถสืบต่อกันได้ทางกรรมพันธุ์ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เมื่อเริ่มต้นจะไม่แสดงอาการที่ชัดเจน แต่จะมีอาการเมื่อเป็นมากแล้ว จึงพบว่าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ส่วนใหญ่มีอาการไตเรื้อรังระยะที่รุนแรง อาการที่พบได้บ่อยและเป็นสัญญาณแจ้งเตือน คือ มีอาการปัสสาวะผิดปกติ อาจมีปัสสาวะมากหรือน้อยไปจนถึงไม่มีปัสสาวะเลย โดยปัสสาวะอาจขุ่นหรือใสเหมือนน้ำ มีสีเข้ม เป็นฟอง บางครั้งอาจมีเลือดปน หรือมีกลิ่นผิดปกติ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค นอกจากนี้ อาจมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย รู้สึกเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ซีดตัวบวมเนื่องจากไตไม่สามารถขับน้ำออกได้โดยมักเริ่มที่เท้าและรอบดวงตา เมื่อเป็นมากขึ้นอาจทำให้เกิดอาการของไตวายจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีทั้งการตรวจเลือดดูการทำงานของไตและการตรวจปัสสาวะเพื่อดูปริมาณไข่ขาวรั่วและหรือเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงในทางเดินปัสสาวะ นั้นมีความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง อาทิ อายุมากกว่า 60 ปี มีประวัติป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะบ่อยครั้ง โรคภูมิคุ้มกันแพ้ภัยตัวเอง เช่น โรคลูปัส (SLE) โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น หรือรับประทานยาที่อาจส่งผลการทำงานของไต อาทิเช่น กลุ่มยาแก้ปวดชนิด NSAIDs ทานยาสมุนไพร หรือได้รับยาบำบัดทางเคมีบำบัดที่มีผลต่อไต ขณะ พญ.วรรณิยา มีนุ่น อายุรแพทย์โรคไต กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถีเสริมว่า คนไทยควรตระหนักในการป้องกันโรคไต ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การใช้ชีวิต การทำงาน หรือแม้แต่การต้องอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยแรงกดดัน จึงควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำร้ายไต และหันมาดูแลสุขภาพตนเอง ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ไม่ใช่แค่รสเค็มจัด แต่รวมไปถึง อาหารหวานจัด เผ็ดจัด หรือแม้กระทั่งมันจัด เนื่องจากทำให้ไตทำงานหนักขึ้นจึงมีส่วนทำให้เป็นโรคไต 2.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 3.ดื่มน้ำให้เพียงพอ 6-8 แก้วต่อวัน งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 4.พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ทำงานหนักจนเกินไป ไม่เครียด 5.ลดทานอาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวกล่องในร้านสะดวกซื้อ อาหารกระป๋อง เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณมากโดยไม่รู้ตัว 6.ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงและมีอนามัยที่ดีอยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง