ซีพี จับมือญี่ปุ่น-ดีอี เล่นภาพใหญ่ ต่อยอดไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เดินหน้าดึงสตาร์ทอัพญี่ปุ่น ปั้นไทยสู่ฮับด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีระดับภูมิภาคอาเซียน ในระหว่างที่การเจรจารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เข้าสู่โค้งสุดท้าย และมีกระแสที่สร้างความสับสนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนว่า ซีพี จะมองภาพใหญ่ เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่น ดึงดูดนักลงทุนเข้าสู่อีอีซี ทำอย่างไรให้ต่างประเทศมองไทยน่าลงทุน ถือได้ว่า เล็กๆไม่ ใหญ่ๆทำ การสร้างไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจภูมิภาค รถไฟอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมองภาพใหญ่ ดึงนักลงทุนจากต่างประเทศมาร่วมพัฒนาโครงการให้สำเร็จ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นระดับภูมิภาค สำหรับการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนาม 3 บินถือได้ว่า เป็นโครงการที่สำคัญอันดับแรกๆ ที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนจากหลากหลายประเทศ และจะทำให้เกิดภาพใหญ่ของการสร้างเครื่องจักรเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยในอีกหลายสิบปีข้างหน้า ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้หรือไม่ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมานายทาดาชิ มาเอดะ ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation: JBIC)เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยผู้ว่าการ JBIC กล่าวว่า การเข้าพบนายกฯครั้งนี้ เพื่อรายงานความคืบหน้าในการผลักดันโครงการต่างๆ ภายใต้ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) และยืนยันการสนับสนุนซีพีในการทำโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการอื่นๆในอีอีซี ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญในการทำรถไฟความความเร็วสูง การสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีก็มีความสำคัญ ล่าสุดสถานทูตฯญี่ปุ่นจับมือกระทรวงดิจิทัล เครือเจริญโภคภัณฑ์ และทรู คอร์ปอเรชั่น นำสุดยอด Start up แถวหน้าด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่นพบบริษัทชั้นนำของไทยกว่า 20 แห่ง ร่วมมือกันสร้างนวัตกรรมใหม่ ผลักดันประเทศไทยสู่ยุค 4.0 ให้สู่ความเป็นจริง ทั้งนี้เมื่อวันที่ 14 มี.ค.62 สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัดและบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)จัดงาน Rock Thailand ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม Open Innovation Columbus(OIC) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและไทย  เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สตาร์ทอัพของญี่ปุ่น-ไทยเกิดการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC มีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งใหม่ (New Innovation Hub)ของภูมิภาคอาเซียนสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 “ได้นำสุดยอดสตาร์ทอัพแถวหน้าด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่น 10 บริษัทมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับบริษัทชั้นนำของไทยกว่า 20 บริษัทที่ Lobby ชั้น 28 อาคารทรู ทาวเวอร์ ถนนรัชดาภิเษก โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยให้เกียรติร่วมงาน โดยมีนายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานคณะกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ร่วมให้การต้อนรับ ที่อาคารทรูทาวเวอร์ ถนนรัชดาภิเษก” นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ที่มีนโยบายส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพของญี่ปุ่นสู่ระดับสากล สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยที่จะก้าวสู่ 4.0 เป็นการเปิดโอกาสแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนมุมมองทางธุรกิจภายใต้ โครงการ Open Innovation Columbus ซึ่งส่งเสริมการร่วมมือทางธุรกิจระหว่างบริษัทชั้นนำไทยกับสตาร์ทอัพของญี่ปุ่น รวมไปถึงการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกับสตาร์ทอัพของไทยในอนาคตด้วย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายมุ่งส่งเสริมการขับคลื่อนการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation)และดิจิทัลไทยแลนด์ โดยเฉพาะโครงการสมาร์ทซิตี้และเมืองนวัตกรรมในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)ที่สะท้อนถึงการก้าวสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 และจะส่งผลให้ไทยเป็นผู้นำด้านการค้าการลงทุน และการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาค “โครงการ Open Innovation Columbus เป็นโครงการที่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นส่งเสริมสตาร์ทอัพญี่ปุ่นให้เข้ามาร่วมมือกับธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆโดยใช้พื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EECi)เพื่อสร้างให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมใหม่ของภูมิภาคอาเซียนนอกประเทศญี่ปุ่น(New Innovation Hub)ตลอดจนส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเข้าถึงเทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT ที่ใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อระหว่างเอสเอ็มอีญี่ปุ่นกับไทยสู่ CLMVT(กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย) และออกสู่เวทีโลกต่อไป” นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัดกล่าวว่า เครือซีพีให้ความสำคัญกับการปรับตัวสู่โลกดิจิทัล ซึ่งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของเครือซีพีไม่ใช่เพื่อองค์กรหรือบริษัทในเครือเท่านั้น แต่ต้องสร้างและพัฒนาด้านนวัตกรรมสำหรับประเทศไทยโดยรวม โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนา การลงทุนในสตาร์ทอัพและการสร้างอีโคซิสเต็มแพลตฟอร์มเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งกุญแจสำคัญที่จะก้าวสู่ความสำเร็จคือ ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเครือซีพีในฐานะภาคเอกชนไทย พร้อมสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยให้มีอนาคตก้าวหน้า สามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้ โดยเฉพาะการก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่นวัตกรรมดิจิทัลจะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต "ความร่วมมือกับสถานทูตฯญี่ปุ่นในครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับตัวแทนสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จระดับแถวหน้าของญี่ปุ่น เชื่อมั่นว่า พลังของสตาร์ทอัพญี่ปุ่นที่ถือเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอันดับ 1 ของโลกจะช่วยยกระดับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงให้ไทยก้าวสู่ประเทศไทย4.0 และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถ่ายทอดนวัตกรรมและเป็นประโยชน์กับสตาร์ทอัพของไทยต่อไป" โดยสุดยอดสตาร์ทอัพญี่ปุ่นที่เข้าร่วมงานครั้งนี้มีจำนวน 10 บริษัท ประกอบด้วย สตาร์ทอัพด้าน AI (ปัญญาประดิษฐ์) 4 แห่งได้แก่ ABEJA,PKHSA,LPIXEL และ SKYDiSC ด้าน Internet of Things(IoT) จำนวน 3 แห่งได้แก่ UMITRON,Smartdrive และ Smart Shopping และด้านเทคโนโลยีโลจิเทค(Logitech)อีก3แห่งคือ GROUND,SOUCO และ MOVO โดย ABEJA เป็นหนึ่งในยูนิคอร์นด้านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์(AI)ของญี่ปุ่น หรือสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว และมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญ สหรัฐฯร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ สำหรับผู้บริหารบริษัทชั้นนำของไทยที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ได้แก่ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน),นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน),ดร.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน),นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด,นายธรรมศักดิ์ จิตติมาพร ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจใหม่ กลุ่มมิตรผล นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจาก บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)จำกัด(มหาชน),โรงพยาบาลสมิติเวช ,ธนาคารไทยพาณิชย์,บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน),บริษัทไทยซัมมิทโอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด,บริษัท ดับบลิวเอชเอคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน),ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน),บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน),บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)และบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)