ทหารประชาธิปไตย รัฐสวัสดิการน่าจะเป็นรัฐในอุดมคติของประชากรทั่วโลก เพราะเป็นรัฐที่สามารถดูแลประชากรได้ทุกกลุ่ม เหมือนอย่างที่ท่านอาจารย์ป๋วย อึ้งภากร ผู้เป็นแบบอย่างของคนดีศรีสังคม ที่เราจะต้องระลึกถึงเสมอ โดยท่านได้เขียนบทความสั้นๆ ชื่อว่า “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ซึ่งหมายถึงระบบรัฐสวัสดิการที่ควรเป็นเป้าหมาย แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่ามีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่อาจจะนับว่าเป็นรัฐที่ประสบความสำเร็จเป็นรัฐสวัสดิการ เช่น สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก โดยเฉพาะเดนมาร์กนั้นเป็นแม่แบบของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการลงรากฐานให้ระบบสหกรณ์เป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในขณะที่การเลือกตั้งก็ใกล้เข้ามาทำให้พรรคการเมืองในประเทศไทยหลายพรรคต่างก็ออกมาประกาศนโยบายที่อ้างอิงถึงการเป็นรัฐสวัสดิการ และไม่มีความชัดเจนว่าจะหาเงินหรือมีรายได้มาอย่างไร ในการจัดรัฐสวัสดิการ ซึ่งต้องครอบคลุมไปถึงระบบที่จะยั่งยืนนานในระยะยาว ทุกวันนี้พรรคการเมืองเกือบทุกพรรค รวมถึงรัฐบาลคสช. ยังมีความสับสนปนเปกับขอบเขตและระบบของรัฐสวัสดิการ ซึ่งมีความทับซ้อนและปนเปกับคำว่า “ประชานิยม” “ประชารัฐ” “ประชาสงเคราะห์” และ “รัฐสวัสดิการ” จึงขอทำความเข้าใจแบบง่ายๆ กับคำเหล่านี้ กล่าวคือ “ประชานิยม” อาจมีความหมายว่าทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ประชาชนชอบ ไม่ว่าประชาชนจะต้องทำอะไรตอบแทนหรือไม่ ซึ่งก็จะไปลงเอยว่าส่วนใหญ่ก็จะชอบของฟรีที่ไม่ต้องทำอะไร นานเข้าก็เป็นความเคยชิน “ประชารัฐ” อาจมีความหมายแคบลงมาหน่อยก็คือทำอะไรก็ได้ที่ประชาชนชอบ แต่มีรัฐเป็นคนเข้ามากำกับดูแลทั้งหมด อันนี้ที่ทำกันอยู่เช่น รัฐทำการแจกบัตรคนจน แล้วแจกเงินผ่านบัตร บัตรผู้สูงอายุก็เช่นเดียวกัน ซึ่งรัฐไม่เคยสนใจว่า เงินเหล่านั้นประชาชนเอาไปทำอะไร ตรงข้ามการใช้เงินผ่านบัตรทำให้เงินเหล่านั้นถูกดูดกลับไปอยู่กับนายทุนใหญ่ที่ขายสินค้าอุปโภค บริโภค แทนที่จะมีขั้นตอนผ่านร้านค้าย่อยๆของคนระดับล่าง อย่างโชว์ห่วยที่ไม่มีกลไกรับบัตร ส่วนคำนิยามเรื่องคนจน คนพิการ คนชราก็ไม่ชัด เนื่องจากรัฐไม่มีข้อมูลเพียงพอ ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลเพียงพอ คนจนหรือคนชราหลายคนมีรายได้ที่ไม่อยู่ในระบบ เช่น มีทั้งให้เช่า ก็ยังมาใช้สิทธิรับเงินได้ “ประชาสงเคราะห์” เป็นระบบที่รัฐไทยทำมานานแล้ว และสอดรับกับแนวคิดด้านศาสนา คือ คนมั่งมีต้องช่วยคนจน เพราะจะได้บุญกุศล แต่ระบบนี้รัฐเป็นคนจัดการเอง โดยเอาเงินจากภาษีอากรมาจัดบริการให้สังคม เช่น บ้านพักฟื้นคนชราที่บางแค โรงเรียนสอนคนตาบอด ฯลฯ ซึ่งไม่เคยเพียงพอและจะมีลักษณะเป็นของตัวอย่าง หนำซ้ำส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในกทม.และปริมณฑล ซึ่งต่อมาก็ขยายตัวออกไปบวกกับนโยบายของรัฐ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งออกแนวประชานิยมหรือการแจกบัตรคนจน ซึ่งเป็นแนวประชารัฐ เป็นต้น แล้วรัฐสวัสดิการที่ริเริ่มโดยตะวันตกมันเป็นอย่างไร ก็อยากสรุปว่า การจัดรัฐสวัสดิการนั้นประการแรกรัฐต้องมีข้อมูลเพียงพอครบถ้วน และต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการเปิดเผยข้อมูลเหล่านั้นหรือมีระบบที่จะรวมศูนย์ข้อมูลที่รัฐ โดยประชาชนจะต้องยอมรับและไม่ถือว่าเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ประการที่สองรัฐต้องมีเจ้าหน้าที่และสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอที่จะให้บริการครบถ้วน และมีการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ประการที่สามรัฐจะต้องมีรายได้เพียงพอจากการเก็บภาษีทางตรงโดยประชากรส่วนใหญ่ นั่นคือจากภาษีเงินได้ ซึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จดังกล่าวข้างต้นเขาเก็บภาษีสูงมากถึง 50% ของรายได้ แต่บริการหลักๆเช่นที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การศึกษารัฐเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด และมีมาตรฐานที่ดีและเท่าเทียมกัน ตลอดจนมีบำนาญเพื่อใช้จ่ายในยามเกษียณหรือตกงานที่พอเพียงต่อการดำรงชีพตามสมควร สำหรับประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ไม่มีขีดความสามารถที่จะจัดระบบได้แบบนั้น จึงใช้วิธีผสมผสานกับระบบสังคมสงเคราะห์ที่สอดรับกับแนวคิดทางศาสนา อนึ่งหากจะจัดระบบรัฐสวัสิการต้องมาพิจารณาถึงขีดความสามารถของรัฐว่าจะหารายได้จากภาษีทางตรงมาได้อย่างไรจึงจะเพียงพอ ไม่ใช่ใช้วิธีลูบหน้าปะจมูก คือใช้นโยบายงบประมาณขาดดุล กู้เงินมาสนับสนุนโครงการ อย่างนี้ไปไม่รอดแน่ ลองมาพิจารณาดูโครงสร้างทางรายได้และโครงสร้างทางประชากรของไทยดู ประการแรกคนไทยรายได้ที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำหรือไม่มีรายได้ มีประมาณ 1.5 ล้านคน ประกอบไปด้วยคนชั้นกลางระดับล่างและระดับล่างที่มีรายได้ไม่แน่นอน คนเหล่านี้ไม่ได้เสียภาษีรายได้ รวมทั้งเกษตรกรรายย่อยอีกจำนวนมาก ข้อมูลจากรายงานของธนาคารเครดิตสวิส ระบุว่าไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้เป็นอับดับ 1 แต่แทนที่รัฐบาลจะพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ กลับซ้ำเติมด้วยการออกนโยบายเอื้อต่อนายทุนใหญ่ เพราะนายทุนเหล่านั้นมีบทบาทและอิทธิพลต่อการปกครองประเทศ มีงานวิจัยเมื่อปี 2018 ระบุว่า คนอายุ 60 กว่าๆ ในปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 12 ล้านคนในปี 2040 จะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน และต่อไปจะเป็นภาระทางเศรษฐกิจของสังคม ส่วนคนวัยทำงานช่วงอายุ 25-44 ปี ในช่วงเดียวกันนั้น จะมีปริมาณลดลงจากประมาณ 20 ล้านคน เป็น 15 ล้านคน และช่วง 45-54 จะลดลงจาก 11 ล้านคน เหลือ 9 ล้านคน ทำให้มีคนทำงานให้เกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยลง และรัฐบาลก็จะเก็บภาษีได้น้อยลง แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปสนับสนุนรัฐสวัสดิการอย่าว่าแต่ขนาดนั้นเลย เอาแค่การลดแลกแจกแถมอย่างที่ทำอยู่ก็ยากที่จะทำแล้วถ้าอาศัยลำพังจากรายได้ที่มาจากภาษีทางตรง ฉะนั้นรัฐก็ต้องปรับขึ้นภาษี ซึ่งตามหลักการต้องเก็บในอัตราที่ก้าวหน้ากว่านี้ คือ คนที่มีระดับรายได้สูงต้องเสียในอัตราที่สูงกว่าคนระดับรายได้รองลงไป เช่น รายได้ 10 ล้านต่อปีเสีย 25% แต่คนมีรายได้ 15 ล้านบาทต่อปีเสีย 30% ไล่ขึ้นไป ซึ่งจะทำให้ช่วงว่างทางรายได้ลดต่ำลง และเงินมาใช้สนับสนุนระบบรัฐสวัสดิการเท่าที่มีกำลัง อย่าบอกว่าจะเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะนั่นคือการเพิ่มภาระให้คนจน และเป็นการไปกระตุ้นเงินเฟ้ออีกทางหนึ่งด้วย นั่นคือภาษีมูลค่าเพิ่มจะไปบวกบนราคาสินค้า ด้วยเหตุนี้พรรคการเมืองทั้งหลายรวมทั้งรัฐบาลจะต้องตระหนักว่าการลดแลกแจกแถมหรือการจัดสร้างระบบรัฐสวัสดิการมันต้องมีคำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์ว่าเราจะหารายได้มาจุนเจือได้อย่างไร ขนาดญี่ปุ่นมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าไทยหลายเท่า ตอนนี้แค่รายได้ก็อยู่ในระดับ 3 ของโลก ยังมีปัญหาที่จะดูแลคนสูงอายุอย่างมาก ขณะที่หนี้สาธารณะก็เพิ่มเป็น 200% กว่า ต่อจีดีพีแล้ว ซึ่งเขามีปัญญาจ่าย ส่วนไทยที่อ้างว่าพึ่งเป็นหนี้สาธารณะยังไม่ถึง 50% เลยยังก่อหนี้ได้อีกคงต้องไปทบทวนอีกครั้งว่าเรามีปัญญาจ่ายเหมือนญี่ปุ่นไหม นี่ยังไม่นับหนี้ครัวเรือนที่มีปริมาณหลายล้านล้านแล้ว และมันก็เป็นภาระของประชาชนเหมือนกัน