สทนช.จับมือจังหวัดสกลนคร ร่วมบูรณาการอีก 9 หน่วยงาน จัดทำแผนหลักการพัฒนาหนองหาร เพิ่มศักยภาพในทุกด้าน ทั้งการป้องกันน้ำท่วม การอุปโภคบริโภค การบำรุงพันธ์สัตว์และประมง การชลประทาน รวมทั้งการแก้ปัญหาคุณภาพและวัชพืช คาดใช้เวลาดำเนินการ 10 ปี งบประมาณ 5,490 ล้านบาท เมื่อวันที่ 14 มี.ค.62 นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ร่วมกับจังหวัดสกลนคร ทำการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาหนองหาร จังหวัดสกลนคร เนื่องจากการใช้ประโยชน์จากหนองหารในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยใช้เพื่อการอนุรักษ์ และบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำเป็นหลัก ไปสู่การใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นในการอุปโภคบริโภค ภาคเศรษฐกิจ การเกษตร และการบรรเทาอุทกภัย ทำให้เกิดปัญหาในการจัดการหนองหาร โดยได้ศึกษาแบบองค์รวม มีทิศทางและกรอบแนวทางในการพัฒนาที่ชัดเจน และเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน เพื่อเป็นแนวทางให้ส่วนราชการต่างๆ นำไปดำเนินการได้ ทั้งนี้ได้แบ่งระยะเวลาการพัฒนาหนองหาร 10 ปี เป็นแผนระยะเร่งด่วนระหว่างปี 2563-2564 แผนระยะปานกลางระหว่างปี 2565-2567 และแผนระยะยาวระหว่างปี 2568-2572 โดยมี 9 หน่วยงาน ได้แก่ กรมประมง กรมชลประทาน กรมโยธาและผังเมือง กรมพัฒนาที่ดิน การประปาส่วนภูมิภาค สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสกลนคร สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสกลนคร สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสกลนคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการแผนดังกล่าว สำหรับผลการศึกษาได้ข้อสรุป ดังนี้ ด้านน้ำท่วมและอุทกภัย ในปัจจุบันหนองหารทำหน้าที่เป็นแก้มลิงชะลอน้ำหลากจากลำน้ำสาขา การบริหารระดับน้ำในหนองหารจึงกระทบกับชุมชนรอบหนองหารและกระทบกับพื้นที่ 2 ฝั่งลำน้ำก่ำถึงประตูระบายน้ำ (ปตร.) หนองบึง รวมทั้งยังมีตะกอนดินทรายตกทับถมบริเวณปลายลำน้ำสาขาที่ลงหนองหาร กีดขวางการระบายน้ำจากลำน้ำสาขาลงหนองหาร น้ำจึงล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ 2 ฝั่งลำน้ำสาขาอีกด้วย ส่วนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตามผลการศึกษาเห็นว่าการยกระดับน้ำเก็บกักสูงกว่าเดิม (+157.00 ม.รทก.) เพื่อให้รองรับน้ำหลากได้มากขึ้น จะกระทบกับพื้นที่รอบหนองหารซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนและเกษตรกรรมที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์ ประกอบกับไม่มีความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ และ ปตร.สุรัสวดี สามารถระบายน้ำได้มากกว่าความสามารถในการระบายน้ำของลำน้ำก่ำที่อยู่ท้าย ปตร.สุรัสวดี จึงไม่จำเป็นต้องปรับปรุง แต่ให้ใช้ ปตร.สุรัสวดี ร่วมกับ ปตร.น้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบรายละเอียด และจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2566 เพื่อควบคุมปริมาณน้ำในหนองหารให้ต่ำกว่าระดับเก็บกัก 1 เมตร ต่อเนื่องในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม พร้อมทั้งให้ปรับปรุงการระบายน้ำในลำน้ำก่ำทั้งระบบ ให้สามารถระบายน้ำได้ใกล้เคียงกับการระบายน้ำสูงสุดของ ปตร.สุรัสวดี และปรับปรุงหนองน้ำสาธารณะ 15 แห่ง ที่อยู่ริมสองฝั่งของลำน้ำก่ำให้เป็นแก้มลิง และเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ 3,700 ไร่ รวมทั้งขุดลอกสันดอนปากลำน้ำสาขาหลักที่ไหลลงหนองหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ลดปัญหาน้ำล้นตลิ่งท่วม 2 ฝั่งลำน้ำสาขาที่ไหลลงหนองหาร ด้านการใช้น้ำ ในปัจจุบันความจุหนองหารที่มีการสำรวจใหม่อยู่ที่ 164 ล้าน ลบ.ม. ชุมชนรอบหนองหารมีความต้องการใช้น้ำเพื่อการประปาอุปโภคบริโภค ปัจจุบัน 12 ล้าน ลบ.ม./ปี จะเพิ่มเป็น 15 ล้าน ลบ.ม./ปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า พื้นที่เกษตร รอบหนองหาร 32,935 ไร่ ปริมาณความต้องการน้ำ 55 ล้าน ลบ.ม./ปี ซึ่งหนองหารมีปริมาณน้ำเพียงพอสามารถขยายพื้นที่ชลประทานได้เพิ่มขึ้นอีก 25,000 ไร่ ปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรจะเพิ่มเป็น 97 ล้าน ลบ.ม./ปี รวมปริมาณความต้องการน้ำทุกด้านปัจจุบันมีความต้องการ 69 ล้าน ลบ.ม. และอีก 20 ปีข้างหน้าเพิ่มเป็น 115 ล้าน ลบ.ม./ปี ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ปริมาณความจุของหนองหารปัจจุบันเพียงพอเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับการใช้น้ำทุกกิจกรรม จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มความจุ ในขณะเดียวกัน การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) มีกำลังผลิตน้ำประปาเพียงพอกับความต้องการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เพียงแต่ท่อจ่ายน้ำประปายังไม่ครอบคลุม ซึ่ง กปภ. มีแผนดำเนินการก่อสร้างขยายเขตการส่งน้ำแล้ว อย่างไรก็ตามในส่วนของระบบสูบน้ำเพื่อการชลประทานเดิม 13 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่เกษตรในระยะ 2 กิโลเมตรจากขอบหนองหารแล้ว แม้จะมีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะขยายพื้นที่เกษตรได้อีก 25,000 ไร่ แต่ระยะทางการสูบส่งน้ำอยู่ห่างจากหนองหารมาก จึงไม่เหมาะสมที่จะขยายพื้นที่ชลประทานด้วยระบบสูบน้ำเพิ่มขึ้น แต่ควรจะปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของสถานีสูบน้ำเพื่อการชลประทานทั้ง 13 แห่ง ที่ใช้งานมานนาน หลายส่วนเกิดการชำรุด ทำให้ใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ด้านน้ำเสีย ปัจจุบันหนองหารเป็นแหล่งรองรับน้ำเสียของชุมชนโดยรอบปีละ 14.2 ล้าน ลบ.ม. แต่มีระบบบำบัดน้ำเสีย 2 แห่ง ที่เทศบาลนครสกลนครและเทศบาลตำบลท่าแร่ ทำให้มีน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดไหลลงหนองหาร ปีละ 9.26 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66.05 ของปริมาณน้ำเสียชุมชนทั้งหมด ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำเสียที่ไม่ผ่านระบบบำบัด ก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียของเทศบาลนครสกลนคร ก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักให้ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเทศบาลนครสกลนครและเทศบาลตำบลท่าแร่ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและรวบรวมน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียให้ครอบคลุม เพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียของเทศบาลตำบลท่าแร่ และก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียของพื้นที่ชุมชนรอบหนองหารที่ยังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย และน้ำเสียที่ไม่ผ่านระบบจะต้องสนับสนุนให้มีการบำบัดน้ำเสียเบื้องต้นระดับครัวเรือน โดยของบอุดหนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ด้านวัชพืชลอยน้ำ สาหร่ายและซากวัชพืชตกตะกอนทับถม ในปัจจุบันมีวัชพืชลอยน้ำ สาหร่าย วัชพืชใต้น้ำ และซากวัชพืชตกตะกอนทับถมจำนวนมาก ส่งผลต่อคุณภาพน้ำหนองหารและการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ จะต้องดำเนินการ กำจัดวัชพืชลอยน้ำในหนองหารให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม พร้อมกับกำจัดสาหร่าย วัชพืชใต้น้ำและซากวัชพืชที่ตกตะกอนทับถม เพื่อเป็นการฟื้นฟูให้น้ำในหนองหารมีคุณภาพน้ำที่ดีขึ้น เหมาะที่จะเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับกิจกรรมทุกประเภท และเหมาะต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ ตลอดจนเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ “แผนพัฒนาหนองหารตามแผนดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้ง 6 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูหนองหารให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค การชลประทาน การจัดการน้ำเสียจากชุมชน การเป็นแหล่งบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำ และการป้องกันอุทกภัยพื้นที่โดยรอบและในลำน้ำก่ำ เป็นต้น โดยใช้กรอบวงเงินงบประมาณ 5,490 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (พ.ศ. 2563-2572) เมื่อการพัฒนาแล้วเสร็จจะสามารถฟื้นฟูหนองหารให้เป็นแหล่งน้ำจืดที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีระบบนิเวศที่ดี มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งประมงพื้นที่บ้าน สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับประชาชน และเป็นแหล่งน้ำดิบที่มีคุณภาพเพื่อผลิตน้ำประปาของชุมชนต่างๆ ที่อยู่รอบหนองหาร ตลอดจนเป็นแหล่งน้ำชลประทานสำหรับเกษตรกรในพื้นที่โดยรอบ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพให้หนองหารในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะการบรรเทาอุทกภัย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม การท่องเที่ยวและนันทนาการอีกด้วย”เลขาธิการ สทนช. กล่าว