หลังจากหายหน้าไปหลายวัน ก็หวนกลับมาเขย่าขวัญสั่นประสาทกันอีกคำรบ สำหรับ “ฝุ่นจิ๋วพิษ” นิกเนมของ “ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กวัดได้ 2.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร” ที่กลับมาเป็นวิกฤติปัญหาทางสภาพอากาศของไทยเราในหลายพื้นที่ จนติดอันดับต้นๆ ที่มีค่าฝุ่นละอองในอากาศเกินมาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้ เช่น ในหลายบริเวณของกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยเรา เป็นต้น แถมบางจังหวัด อย่าง “เชียงใหม่” ขึ้นแท่นติดชาร์ตอันดับ 1 ของโลกในการจัดอันดับเปรียบเทียบกับเมืองในประเทศอื่นๆ บางช่วงบางเวลา เช่น ในอินเดีย ที่เผชิญปัญหามลภาวะอากาศอย่างหนักเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ต้องระดมความร่วมมือจากทุกฝ่าย แก้ไขกันอย่างจริงจัง เพราะกระทบกระเทือนต่อสุขภาพของประชาชนพลเรือนจนน่าเป็นห่วง โดยวิกฤติปัญหาของมลภาวะทางอากาศที่ว่า ก็ยังสร้างความวิตกกังวลต่อบรรดานักวิชาการด้านการแพทย์ สาธารณสุขไปทั่วโลกด้วย ล่าสุด ทางคณะนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยศูนย์การแพทย์เมนซ์ ในประเทศเยอรมนี ซึ่งนำโดย ศ.โทมัส มุนเซล และ ศ.โจส เลไลเวลด์ ก็ได้เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยเรื่องปัญหามลภาวะทางอากาศกับสุขภาพของประชาชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยมุ่งเน้นไปที่ภูมิภาคยุโรป เปรียบเทียบกับผลกระทบของสุขภาพจากการสูบบุหรี่ สภาพอากาศบนท้งถนนในกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนี ที่เต็มไปด้วยหมอกควันฝุ่นละอองจากไอเสียของรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม ผลการศึกษาวิจัยปรากฏว่า มลภาวะทางอากาศ กลายเป็นเพชฌฆาตที่คร่าชีวิตประชาชนพลเมือง ยิ่งกว่าการสูบบุหรี่ ที่ใครๆ ทั่วโลกต่างพากันกลัวนักกลัวหนาเสียอีก ศ.มุนเซล กล่าวว่า ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากมลภาวะอากาศ ในช่วงขวบปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีจำนวนมากกว่า 8.8 ล้านคน ขณะที่ ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ทั่วโลกในช่วงเวลาเดียวกัน ตามการเปิดเผยของ “องค์การอนามัยโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอชโอ” หรือที่มักเรียกติดปากกันว่า “ฮู” ก็ระบุว่า อยู่ที่ 7.2 ล้านคน ใช่แต่เท่านั้น ศ.มุนเซล ยังระบุด้วยว่า พิษภัยจากบุหรี่นั้นสามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่สำหรับมลภาวะทางอากาศนั้นหลบหลีกกันไม่ได้ คือ หมายความว่า กินอาณาบริเวณไปไกลกว่าควันบุหรี่ เพราะครอบคลุมพื้นที่กันแทบทั้งเมืองเลยก็มี จนไม่รู้ว่าจะเลี่ยงหลบกันอย่างไร ด้วยประการฉะนี้ ตัวเลขที่ออกมา จึงพลิกล็อก ผิดความคาดหมายอย่างที่ใครๆ คาดการณ์กันอย่างที่เห็น โดยเกินความคาดหมายที่ประเมินกันก่อนหน้าไว้ที่ 4.5 ล้านคน หรือเกือบ 2 เท่าเลยทีเดียว มลภาวะทางอากาศในกรุงลอนดอน เมืองหลวงอังกฤษ ที่เป็นปัญหาหนักที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคยุโรป ในรายงานของการวิจัย ได้หยิบยกถึงการศึกษากรณีตัวอย่างในพื้นที่หลายประเทศของยุโรป ภูมิภาคที่แม้ได้ชื่อว่า พัฒนาแล้ว แต่ก็เผชิญหน้ากับปัญหามลภาวะทางอากาศเล่นงานกันจนงอมพระราม ให้โลกได้รับรู้กัน โดยรายงานการวิจัย ระบุว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศทั่วโลกกว่า 8.8 ล้านคน ก็เป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในยุโรปจำนวนกว่า 790,000 คน ด้วยกัน ทั้งนี้ จำนวนตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศในภูมิภาคยุโรปข้างต้น ก็ต้องบอกว่า เกินความคาดหมายที่ประมาณการกันถึง 2 เท่า ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าว ราวร้อยละ 40 -80 เสียชีวิตเพราะปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดและโรคหัวใจ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากอากาศเป็นพิษ ส่วนประเทศที่ประชาชนพลเมือง ตกเป็นเหยื่ออากาศพิษ ปลิดชีพมากที่สุด ก็คือ “เยอรมนี” แดนอินทรีเหล็ก จำนวนถึง 124,000 คน รองลงเป็น อิตาลี จำนวน 81,000 คน ฝรั่งเศส 67,000 คน อังกฤษ 64,000 คน และโปแลนด์ 58,000 คน เป็นอาทิ โดยสภาพอากาศที่เป็นมลภาวะก็ทำให้ผู้คนล้มป่วยด้วยโรคต่างๆ จนถึงแก่ชีวิตตามมาได้ ได้แก่ โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ และโรคมะเร็งปอด หรือปอดติดเชื้อกันแบบเรื้อรัง ซึ่งนอกจากเป็นมัจจุราชที่ประหัตถ์ประหารชีวิตผู้คนให้ปลิดปลงลงแล้ว มลภาวะอากาศยังเป็นเพชฌฆาตที่ทำให้ประชาชนคนในพื้นที่มีอายุสั้นลงมากน้อยตามแต่บริเวณที่อากาศมีสภาพเป็นพิษ โดยชาวเยอรมนี อินทรีเหล็ก มีถูกจัดให้เป็นพื้นที่ที่ผู้คนอายุสั้นลงมากสุดอีกตำแหน่ง คือ อยู่ที่ 2.4 ปี สำหรับตัวเลขทางสถิติที่ปรากฏ