รองผบก.ปอท.เตือนสติภัยเงินกู้ด่วน นอกระบบ ในโซเชียล ไม่มีจริง ล้วนแต่มิจฉาชีพเปิดมาหลอกลวงเหยื่อที่ร้อนเงินทั้งสิ้น แนะนำไปใช้บริการสถาบันการเงินดีกว่า แม้ขั้นตอนตรวจสอบมากหน่อยแต่ปลอดภัยกว่าเยอะ ส่วนคนร้ายคิดว่าโอนเงินกระเป๋าอีเล็คโทรนิคแล้วตำรวจตามจับไม่ได้นั้นคิดผิด ตำรวจตามจับมาดำเนินคดีแล้วหลายราย เมื่อวันที่ 14 มี.ค.62 ที่ บก.ปอท.พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท.ในฐานะ โฆษก บก.ปอท.กล่าวถึงกรณีที่มีการหลอกลวงผ่านโลกออนไลน์ว่านอกจากการหลอกลวง ซื้อ-ขาย ของทางออนไลน์แล้วยังมีรูปแบบหนึ่งที่มิฉาชีพนิยมใช้ในการหลอกลวงประชาชนคือการเปิดเพจมาหลอกลวงให้กู้เงินนอกระบบด่วน ซึ่งจะมีรูปแบบที่สามารถกู้ได้โดยง่ายเช่นคนที่ติดแบล็คลิสต์ก็สามารถกู้ได้ไม่ต้องใช้หรือมีหลักค้ำประกันแต่อย่างใด การพิจารณาอนุมัติเสร็จภายใน 1 ชั่วโมงจะรู้เรื่องเลยว่าจะได้เงินหรือไม่ จากนั้นเมื่อมีประชาชนอยากใช้เงินด่วนก็จะให้ติดต่อแล้วพูดคุยผ่านทางโปรแกรม Facebook Messenger ก่อนให้เหยื่อส่งหลักฐานต่างๆไปประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ เช่นภาพถ่ายบัตรประชาชน , สมุดบัญชีเงินฝาก เป็นต้นส่งไปให้ประกอบการพิจารณาจากนั้นไม่นานก็จะแจ้งผลกลับมาว่าพิจารณาอนุมัติแล้วผ่าน มิจฉาชีพจะมีการพิมพ์เอกสารผลการพิจารณาอนุมัติทำให้ดูน่าเชื่อถือ เช่น มีบาร์โค้ด หรือ คิวอาร์โค้ด เพื่อทำให้ดูน่าเชื่อถือให้เหยื่อตายใจมากขึ้น จากนั้นคนร้ายจากขอค่าธรรมเนียม,ค่าดำเนินการหรือดอกเบี้ยก่อนเป็นจำนวนประมาณ 10% ของวงเงินที่จะกู้เช่นกู้ 10,000 บาท ก็ต้องโอนดอกเบี้ยไปก่อน 1,000 บาทเมื่อได้โอนไปแล้วคนร้ายก็จะบล็อคFacebookหนีไป ติดต่ออะไรไม่ได้อีกเลย หากคนร้ายแชทพูดคุยเหยื่อแล้วเห็นว่าเหยื่อยังไม่รู้ตัวว่าถูกหลอกอีกอาจจะหลอกลวงเพิ่มอีกได้ เช่นสอบถามว่าจะเพิ่มวงเงินกู้หรือไม่ถ้าต้องการก็จะประสานขอกับหัวหน้าให้ แต่ขอเงินค่าธรรมเนียม หรือดอกเบี้ยเพิ่ม หากเหยื่อหลงเชื่อก็จะโอนให้ตามที่คนร้ายร้องขอมาจากนั้นเมื่อเห็นว่าหลอกต่อไม่ได้ก็จะบล็อค Facebook หลบหนีไป นอกจากเงินที่ถูกหลอกให้ไปแล้ว การที่ผู้เสียหายส่งภาพถ่ายบัตรประชาชนที่ถ่ายส่งไปให้ทางออนไลน์ก็อาจจะโดนเอาไปใช้หลอกลวงบุคคลอื่นต่อไปอีก จากที่ตกเป็นเหยื่อถูกหลอกโอนเงินแล้วอาจจะตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอื่นในโอกาสต่อไปได้อีก คนที่ต้องการใช้เงินเร่งด่วนขอเตือนว่าเพจเงินกู้นอกระบบด่วนเหล่านี้ไม่ไช่เรื่องจริง เจตนาที่มิจฉาชีพเปิดเพจออนไลน์ขึ้นมาเพื่อต้องการก็คือหลอกให้โอนเงินมัดจำหรือเงินดอกเบี้ยก่อนเท่านั้นเอง พบว่ามีมิจฉาชีพ นิยมใช้วิธีการเปิด Page เหล่านี้ขึ้นมาจำนวนมากใน Facebook บก.ปอท.ขอเตือนให้ประชาชนทราบเลยว่าอยากไปหลงเชื่อยืมเงินอย่างเด็ดขาด ถ้าเดือดร้อนจริงๆ ขอให้ไปใช้บริการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินที่มีมาตรฐานจะดีที่สุดและปลอดภัยกว่า แม้ขั้นตอนการกู้ยืมจะต้องมีการตรวจสอบมากหน่อยแต่ก็จะไม่โดนถูกหลอกแบบนี้อย่างแน่นอน รอง ผบก.ปอท.กล่าวต่อ สำหรับสถิติการมาแจ้งความ บก.ปอท.ในกรณีที่ถูกฉ้อโกงทางโลกโซเชียลฯ นั้นมีเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปีสำหรับการสืบสวนจับกุมก็มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในทุกๆ คดีจะมีร่องรอยไว้ให้ ติดตามสืบสวนได้อย่างแน่นอนไม่ว่าจะให้โอนไปทางใดจากการจับกลุ่มผู้ต้องหาฉ้อโกงลักษณะนี้หลายรายเขามักจะมีความเชื่อว่าถ้าใช้วิธีการให้เหยื่อโอนผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์แล้วตำรวจจะติดตามจับกุมไม่ได้นั้น อันนี้ขอบอกเลยว่าตำรวจเราสามารถสืบสวนติดตามได้อย่างแน่นอนขออย่าคิดที่จะกระทำแบบนั้นเลย ซึ่งในเรื่องนี้ พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น ผบก.ปอท. กำชับให้ฝ่ายสืบสวนขยายผล จับกุมเพจอื่นต่อไป เนื่องจากเป็นการหากินบนความเดือดร้อนของผู้อื่น สำหรับอัตราโทษของคดีฉ้อโกงประชาชนนั้นสูง คือ จำคุกไม่เกินห้า ปีปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และอาจจะมีความผิดในเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พศ.2560 มาตรา 14 (1) มีอัตราโทษเท่ากันกับข้อหาฉ้อโกง คือ จำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ