องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน หรือ ACT ส่งหนังสือจี้ทวงถามนายกฯ ใช้ข้อตกลงคุณธรรมกับการประมูลดิวตี้ฟรีครั้งใหม่ ในทุกขั้นตอนรวมทั้งการร่างทีโออาร์ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ป้องกันการผูกขาด ชี้มูลค่าโครงการมหาศาลถูกจับตาจากสังคมมาก ด้าน ทอท.ยันเปิดประมูลดิวตี้ฟรีรายเดียวไม่แยกประเภทคุม 4 สนามบินจูงใจนักลงทุน ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา ทางองค์กรฯได้ทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการนำ “ข้อตกลงคุณธรรม” มาใช้ในการประมูลโครงการร้านค้าปลอดภาษีอากร (Duty Free Shop)ครั้งใหม่ ซึ่งเมื่อวันที่ 1 พ.ย.61 ทางองค์กรฯเคยทำหนังสือเสนอนายกฯแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ผ่านมากว่า 4 เดือน ยังไม่มีความคืบหน้าและคำตอบใดๆ สำหรับในหนังสือดังกล่าว ระบุข้อความว่า การประมูลหาผู้ร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการร้านค้าปลอดภาษีและอากร (Duty Free Shop) ครั้งใหม่ที่ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการในหลายสนามบินหลักของประเทศ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างรายได้มหาศาลเข้ารัฐในแต่ละปี โครงการนี้จึงอยู่ในความสนใจของประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เห็นว่า เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สามารถแข่งขันกับนานาชาติ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ การประมูลครั้งนี้จำเป็นต้องมีการแข่งขันที่เปิดกว้าง ป้องกันการผูกขาด เกิดความโปร่งใสตามนโยบายที่รัฐบาลของท่านได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ดังนั้นจึงควรนำ “ข้อตกลงคุณธรรม” มาใช้ในทุกขั้นตอนของการประมูลเริ่มตั้งแต่การร่างขอบเขตของงาน (TOR) โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ จึงกราบเรียนมายังท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อขอทราบความคืบหน้าในการพิจารณานำ “ข้อตกลงคุณธรรม” มาใช้ในโครงการประมูลหาผู้ร่วมลงทุนกับรัฐครั้งใหม่นี้ ด้วยเป็นห่วงว่า เมื่อมีรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งแล้วเรื่องนี้จะถูกลืมหายไป ทำให้ต้องมาเริ่มทำความเข้าใจกันใหม่ จนอาจเกิดความเสียหายไม่ทันการ” ดร.มานะ กล่าวด้วยว่า ข้อตกลงคุณธรรม คือ หนึ่งในเครื่องมือที่ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 นำมาใช้บริหารงานการมีส่วนร่วมภาคประชาชน เพื่อป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งจัดทำเป็นข้อตกลงร่วมกัน 3 ฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชน และผู้สังเกตการณ์อิสระตัวแทนภาคประชาชน โดยหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการฯ ต้องตกลงกันว่าจะไม่กระทำการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง และเปิดเผยข้อมูลให้แก่ผู้สังเกตการณ์อิสระ รวมทั้งยินยอมให้ผู้สังเกตการณ์อิสระที่มีความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีความรู้และประสบการณ์ เข้าร่วมสังเกตการณ์การทำงานจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอนตั้งแต่การจัดทำร่างขอบเขตงาน ไปจนส่งมอบงานสิ้นสุดโครงการ ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ได้ออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนที่สนใจเข้าร่วมประมูลกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ในสนามบิน 4 แห่ง ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ, สนามบิน หาดใหญ่, สนามบินภูเก็ต และสนามบินเชียงใหม่ โดยเป็นรูปแบบการประมูลสัญญาแบบรายเดียวจะเปิดขายเอกสารการประมูล (TOR) ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.-1 เม.ย.62 และจะเปิดชี้แจงรายละเอียดกับเอกชน ในวันที่ 2 เม.ย.62 ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย(ทอท.)กล่าวว่า บริษัทได้ออกประกาศเชิญชวนเรื่องงานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และประกาศเชิญชวนเรื่องงานให้สิทธิประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยประกาศทั้ง 2 ฉบับ จะคัดเลือกเพียงรายเดียว มีกำหนดให้เข้าบริหารตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.63-31 มี.ค.74 หรือ 10 ปี 6 เดือนด้วยวิธีการประมูลเสนอค่าตอบแทน โดย ทอท.จะเปิดขายเอกสารประมูลทั้ง 2 ประกาศพร้อมกันในวันที่ 19 มี.ค.-1 เม.ย.62เวลา 09.00-12.00 น. และเวลา 13.00-16.00 น.พร้อมกำหนดให้ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานเพื่อขอรับสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ในวันที่ 30 เม.ย.62 เวลา 9.00-11.00 น. และจะประกาศรายชื่อผู้ยื่นข้อเสนอที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ตั้งแต่เวลา 11.00 น.จากนั้นกำหนดให้เสนอผลงานข้อเสนอด้านเทคนิคผู้ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานในวันที่ 2 และ 3 พ.ค.62 และจะเปิดซองเสนอค่าตอบแทนและประกาศผลคะแนนสูงสุดในวันที่ 10 พ.ค.62 ตั้งแต่เวลา 9.30 น. เป็นต้นไป สำหรับงานให้สิทธิประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะให้ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานในวันที่ 30 เม.ย.62 เวลา 13.00-15.00 น.โดยจะประกาศรายชื่อผู้ยื่นข้อเสนอที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตั้งแต่เวลา 15.00 น.และกำหนดเสนอผลงานข้อเสนอด้านเทคนิคผู้ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานในวันที่ 7 และ 8 พ.ค.62 และจะเปิดซองเสนอค่าตอบแทนและประกาศผลคะแนนสูงสุดในวันที่ 10 พ.ค.62 ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป ทั้งนี้ทั้ง 2 สัญญาจะแข่งขันด้านราคาว่ารายใดจะเสนอค่าตอบแทนขั้นต่ำที่มีอัตราสูงสุดจะชนะไป และหากดำเนินการแล้วจะเลือกจ่ายแบบค่าตอบแทนขั้นต่ำ หรือส่วนแบ่งรายได้แล้วแต่ว่าแบบไหนให้ผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งใช้รูปแบบคัดเลือกคล้ายรายเดิมโดยที่ผ่านมา 7 ปีแรกยอดขายไม่ดีก็จ่ายเป็นค่าตอบแทนขั้นต่ำ แต่ 5 ปีหลังยอดขายเติบโตดีก็จ่ายแบบส่วนแบ่งรายได้ คาดว่าเมื่อเปิดซองราคาและรู้ผลผู้ชนะในวันที่ 10 พ.ค.62 จะนำเรื่องเข้าบอร์ดในเดือนพ.ค.62เพื่อรับรองผลการประมูล แต่หากมีการร้องเรียนอาจจะล่าช้าแต่ไม่น่าเกินเดือนมิ.ย.62 ขณะที่ทอท.ประเมินสัญญาดิวตี้ฟรีน่าจะมีผู้ประกอบการจากยุโรป และเอเชีย เข้าร่วมประมูลด้วย นอกเหนือเอกชนไทย ส่วนประเด็นที่ไม่เลือกใช้การประมูลแบ่งประเภทสินค้า (Category)เพราะสนามบินไม่เหมือนห้างสรรพสินค้า การเคลื่อนไหวของผู้โดยสารในสนามบินเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆตามสถานการณ์และเครื่องบินที่จอดรับ ขณะที่การนำ 4 สนามบินรวมกันเป็นสัญญาเดียวจะน่าจูงใจมากกว่า เพราะสนามบินสุวรรณภูมิมีขนาดใหญ่ที่สุดคิดเป็น 82% ของรายได้ดิวตี้ฟรี ขณะที่สนามบินหาดใหญ่มีขนาดเล็กที่สุด คิดเป็น 0.04% หากเปิดประมูลเดี่ยวคงไม่มีใครสนใจ ส่วนสนามบินภูเก็ตและสนามบินเชียงใหม่รวมกันคิดเป็น 18% เมื่อรวมกันและให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้ามาดำเนินธุรกิจจะทำให้ดิวตี้ฟรีของสนามบินสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ส่วนการให้สิทธิในกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) นั้น คณะกรรมการบริษัทได้เห็นชอบหลักการให้เปิดเสรีเรื่องการให้สิทธิดังกล่าว แต่คาดว่าจะดำเนินการได้หลังจากประมูลสิทธิดิวตี้ฟรีและสิทธิประกอบกิจการเชิงพาณิชย์แล้วเสร็จ จึงจะจัดหารูปแบบการให้สิทธิ Duty Free Pick-up Counter ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2562 ซึ่งผู้ประกอบการมีเวลาเตรียมตัว 1 ปี