“กฤษฏา” งัดแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี62 เป็นปีแห่งการผลิตผลไม้คุณภาพ 4 ชนิด ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง รวมกว่า 9 แสนตัน ใช้การตลาดนำการผลิต เดินแผนครบวงจรป้องกันผลผลิตออกกระจุกตัวแก้ราคาร่วง เมื่อวันที่ 12 มี.ค.62 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเปยว่า จากการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตผลไม้ในภาคตะวันออกปี 2562 ซึ่งมีผลผลิตที่สำคัญ 4 ชนิดคือ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ประมาณ 911,434 ตัน โดยผลผลิตจะออกมากช่วงกลางเดือนเมษายน ต่อเนื่องถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งผลผลิตภาพรวมของทั้ง 4 ชนิดจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาก่อนที่เกิดภาวะแล้ง ทุเรียนคาดว่าจะมี 511,872 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มี 403,906 ตัน คิดเป็นร้อยละ 26.73 เงาะคาดว่าจะมี 194,513 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มี 173,224 ตัน คิดเป็นร้อยละ 12.29 มังคุดคาดว่าจะมี 181,390 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มี 73,576 ตัน คิดเป็นร้อยละ 146.53 และลองกองคาดว่าจะมี 23,659 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มี 16,319 ตัน คิดเป็นร้อยละ 44.98 ส่วนผลไม้ภาคเหนือ คือ ลิ้นจี่ จำนวน 41,473 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มี 41,220 ตัน คิดเป็นร้อยละ 0.61 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้ต้นไม้ผลมีเวลาพักสะสมอาหารนาน ทั้งนี้ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปส่งเสริมการผลิตแบบคุณภาพ รวมทั้งสั่งการให้ปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ปีต่อไป โดยในช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) เกษตรกรต้องสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต และราคาเฉลี่ยของผลผลิตตลอดฤดูกาลมีราคาสูงกว่าต้นทุนการผลิตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ด้าน นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้เห็นชอบแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออกได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง) และแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือคือ ลิ้นจี่ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักในการบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ ปี 2562 ให้เป็นไปตามกลไกของตลาดปกติ เน้นการบริหารจัดการเชิงคุณภาพ 3 ระยะ ตั้งแต่ระยะก่อนเก็บเกี่ยว โดยส่งเสริมการผลิตให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน GAP รวมกลุ่มแปลงใหญ่พร้อมเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า ระยะเก็บเกี่ยว แนะนำเก็บเกี่ยวระยะเหมาะสม ป้องปรามผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ส่งเสริมการจำหน่ายผลไม้คุณภาพ ระยะหลังเก็บเกี่ยว ให้คำแนะนำการเตรียมความพร้อมของต้นสำหรับฤดูต่อไป ส่วนการจัดการเชิงปริมาณ ก่อนเก็บเกี่ยว ให้สำรวจและจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิต ระยะเก็บเกี่ยว ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และบริโภคผลไม้ตามฤดูกาล หลังเก็บเกี่ยว ส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลไม้ พร้อมติดตามสถานการณ์ ประเมินผล โดยจะปฏิบัติตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีเกษตรฯ ในการปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ปีต่อไป โดยเฉพาะในช่วงผลผลิตออกมาก ต้องปัองกันไม่ให้เกิดปัญหาราคาตกต่ำ เกษตรกรต้องขายได้ไม่ต่ำกว่าทุน และจะต้องมีกำไรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ตลอดฤดูกาลผลิต