เรื่องใหญ่ระดับชาติที่คนเป็นผู้นำ มิอาจผิดพลาดพลั้งกันเลยทีเดียว สำหรับ “งบประมาณ” ที่จะได้รับการจัดสรรมาใช้จ่ายภายในประเทศ อาทิ กรณีของถิ่นลุงแซม แดนสหรัฐอเมริกา เป็นตัวอย่าง ที่นอกจากพลั้งพลาดกันไปแล้ว ก็ยังมีเรื่องการเล่นเกมทางการเมืองเป็นของแถมกันไปด้วย จนส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ “ปิดการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ” หรือที่เรียกว่า “ชัตดาวน์” ครั้งล่าสุด ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งก็ต้องบอกว่า เป็นปรากฏการณ์ชัดดาวน์ที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะเจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องพักอยู่กับบ้านนานถึง 35 วันด้วยกัน จากเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ถึงเดือน ม.ค. ต้นปีนี้ที่เพิ่งผ่านพ้นมา ร่างงบประมาณประจำปีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ล่าสุด ทางทีมงานด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ โดย “นายแลร์รี คัดโลว์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว” เปิดเผยว่า นายใหญ่แห่งทำเนียบขาวของพวกเขา คือ ประธานาธิบดีทรัมป์ เตรียมที่จะเสนอแผนการงบประมาณประจำปี 2020 (พ.ศ.2563) เพื่อนำมาใช้บริหารประเทศในปีหน้า แต่ะจะเริ่มมีผลบังคับใช้จริงๆ ตั้งแต่เดือน ต.ค.ปลายปีนี้ เป็นต้นไป จนถึงสิ้นเดือน ก.ย.ปีหน้า โดยแผนการที่ว่า ทางนายคัดโลว์ กล่าวว่า จะเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญ นั่นคือ ประธานาธิบดีทรัมป์ จะให้ปรับลดงบประมาณประจำปีหน้า ซึ่งแทบจะทุกหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับกิจการภายในสหรัฐฯ จะถูกปรับลด หรือหั่นงบฯ กันแบบถ้วนหน้า ในจำนวนที่ว่านี้ ก็ยังรวมทั้ง “สวัสดิการบางอย่างของภาครัฐ” ด้วย ที่จะได้รับผลกระทบ ตัวเลขของงบประมาณที่จะหั่นไป ก็คิดเป็นร้อยละ 5 ของปัจจุบันที่ทางการสหรัฐฯ บังคับใช้กันอยู่ หรือคิดเป็นเม็ดเงินก็ลดลงราว 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่า มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการปรับลดงบประมาณของบรรดารัฐบาลในชุดที่ผ่านๆ มา เหตุปัจจัยที่ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ จำต้องหั่นงบประมาณอย่างมากมายเป็นประวัติการณ์เช่นนี้ ก็มาจากเรื่อง “หนี้ของรัฐบาล” ที่บานเบอะ สั่งสมตลอดช่วงที่ผ่านมานั่นเอง “พอกหางหมู” กับงบประมาณในชุดรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ในห้วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมาด้วย จนส่งผลให้สหรัฐฯ มีปริมาณหนี้ทะยานขึ้นเป็นสถิติใหม่ด้วยตัวเลขสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ “กว่า 22 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ” ตามการเปิดเผยจาก “กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ” การชุมนุมประท้วงปิดทำงานภาครัฐ หรือซัตดาวน์ ในสหรัฐฯ โดยมีรายละเอียดออกมาอีกด้วยว่า เพราะการอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมทั้งในส่วนของการใช้จ่ายภายในประเทศ และการจัดงบประมาณเพิ่มเติมไปในด้านการทหาร ผนวกกับการดำเนินนโยบายลดภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ คิดเป็นมูลค่าถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงทำให้ระดับหนี้ทะยานพุ่งสูงขึ้นดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในแผนการที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะปรับลดงบประมาณครั้งนี้ ก็จะไม่กระทบกระเทือนต่องบประมาณด้านกลาโหม และดีไม่ดี ก็อาจจะขยับปรับเพิ่มให้ด้วย โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ดูแลตามแนวชายแดนระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก ทั้งนี้ นอกจากจะอัดงบฯ ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงเหล่านี้แล้ว นายคัดโลว์ ยังระบุด้วยว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังอาจจะจัดสรรงบฯ เพิ่มขึ้นไปอีก เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างกำแพงแนวพรมแดนสหรัฐฯ – เม็กซิโก ที่กำลังเป็นปัญหาอีกด้วย โดยมีรายงานออกมาว่า ประธานาธิบดีทรัมป์จะของบประมาณเพื่อสร้างกำแพงกั้นพรมแดนข้างต้นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 8,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าที่เคยขอไปเมื่อปีก่อนที่ 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แนวรั้วที่กั้นพรมแดนระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก พลันที่มีรายงานข่าวข้างต้นออกไป ก็มีปฏิกิริยาจากทางฟากฝั่งพลพรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกันบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ต่างพากันดาหน้าออกมาถล่มต่อต้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จาก “นางแนนซี เพโลซี” ส.ส.ของพรรคเดโมแครต และดำรงตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งออกมาประสานเสียงกับ “นายชัค ชูเมอร์” ผู้ดำรงตำแหน่ง “ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภาสหรัฐฯ” ออกมาส่งเสียงเพรียกเตือน แกมข่มขู่กันอยู่ในทีว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ เตรียมตัวรับกับความพ่ายแพ้ในศึกอภิปรายงบประมาณประจำปี ในการประชุมสภาลงมติ หรือโหวตร่างรัฐบัญญัติว่าด้วยงบประมาณประจำปี 2020 ที่จะมีขึ้นได้เลย ซึ่งความพ่ายแพ้ดังกล่าว ก็จะหมายความว่า สหรัฐฯ ภายใต้การบริหารปกครองของประธานาธิบดีทรัมป์ เตรียมเผชิญหน้ากับภาวะชัตดาวน์ ปิดทำการหน่วยภาครัฐครั้งใหญ่กันอีกคำรบ ก่อนตำหนิทิ้งท้ายว่า ประธานาธิบดีจอมสร้างสีสันรายนี้ไม่ได้ศึกษาบทเรียนจากการที่รัฐบาลต้องเผชิญหน้ากับภาวะชัดดาวน์ที่ผ่านๆ มาแม้แต่น้อย นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (ซ้าย) เมื่อครั้งพบปะกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาว