“กฤษฏา" ชงครม.ไฟเขียว งบ 1.8 พันล้านบาท อัดลงมาตรการสกัดโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ยกเป็นวาระแห่งชาติ 3ปี คุมเข้มการนำเข้าสุกรและการเคลื่อนย้าย กำหนดค่าชดเชยแก่เกษตรกร หากต้องทำลายสุกรติดโรคระบาด เร่งป้องกันโรคก่อนเกิดผลกระทบวงกว้างภาคอุตสาหกรรมสุกรทั้งระบบ ของไทยที่มีมูลค่ามหาศาล เมื่อวันที่ 12 มี.ค.62 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามเห็นชอบมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) จากนั้นนำเสนอสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบแล้ว ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ จัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรค ASF กำหนดกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ. 2562-2564) เป็นเงินจำนวน 1,822,542,900 บาท ประกอบด้วย การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค การทำลายและค่าชดใช้ในการทำลายสุกรและซากสุกร และงบกลางในปีงบประมาณ 2562 สำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินใช้เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร สำหรับแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคมี 3 ระยะคือ ก่อนเผชิญเหตุการระบาด ขณะเผชิญเหตุการระบาด และหลังเผชิญเหตุการณ์ระบาด โดยกำหนดแนวปฏิบัติไว้ 8 มาตรการ คือ การบริหารจัดการและขับเคลื่อนมาตรการ การป้องกันโรคเข้าประเทศเชิงบูรณาการ การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคเข้าฟาร์ม การเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังโรค การพัฒนาการตรวจวินิจฉัยและสร้างเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการ การพัฒนาการควบคุมโรค การเพิ่มศักยภาพในการสื่อสารความเสี่ยง และการจัดการฟื้นฟูเกษตรกร ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตรวจยึดผลิตภัณฑ์และผลการตรวจพบสารพันธุกรรมของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของด่านกักกันสัตว์ทั่วประเทศ โดยตรวจยึดได้ที่สนามบินนานาชาติแม่ฟ้าหลวง สนามบินนานาชาติภูเก็ต สนามบินนานาชาติสุราษฎร์ธานี และสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา 209 ครั้ง ปริมาณ 5,766 กิโลกรัม ส่งตรวจ 331 ตัวอย่าง มีผลการตรวจที่ให้พบสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสดังกล่าว 22 ตัวอย่าง “ถึงแม้ว่าโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจะไม่ติดต่อมาถึงคน แต่โรคดังกล่าวยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค ไม่มียาในการรักษา เชื้อมีความคงทนในสิ่งแวดล้อม และมีอัตราการตายของสุกรสูง สุกรที่ป่วยแล้วไม่ตายจะเป็นพาหะตลอดชีวิต แต่กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์จะมุ่งดำเนินการควบคุมและป้องกันการเกิดโรคหรือการนำเข้าสุกร เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมสุกรของประเทศไทย" นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว นอกจากนี้ นายสัตวแพทย์สรวิศ ยังได้ร่วมประชุมกับสำนักควบคุมป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ และผู้อำนวยการกองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศเพื่อยกระดับแนวทางมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระหว่างประเทศ ซึ่งจะจัดประชุมระดับภูมิภาควันที่ 14 มีนาคม 2562 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของกรมปศุสัตว์จาก 5 ประเทศได้แก่ ประเทศเวียดนาม กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมาร์ และไทย องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เพื่อหารือทางด้านเทคนิค กำหนดนโยบาย มาตรการและแนวทางความร่วมมือร่วมกันระหว่างประเทศ ไม่ให้โรค ASF ระบาดเข้ามาสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง กรอบในการดำเนินงาน และการสนับสนุนในการดำเนินการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างประเทศ เช่น ด้านการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรค ด่านกักกันสัตว์ การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ และทางห้องปฏิบัติการ เพื่อจะได้นำแนวทางมาทำการซักซ้อมแผนปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ร่วมกันระหว่างประเทศด้วย