แนะแค่ปรับพฤติกรรมกินให้ครบ 5 หมู่เป็นประจำ กินหลากหลาย ทั้งผักผลไม้ ครบถ้วน ทั้งอย่าบังคับเด็กกิน จะทำให้กินยากและเลือกกิน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่เป็นข่าวดังในต่างประเทศ แม่ให้ลูกน้อยกินแคลเซียมเสริมตั้งแต่อายุ 10 วัน หวังให้โตมาสูง สุดท้ายไตพัง และคงมีอีกหลายครอบครัวเมื่อเห็นลูกน้อยไม่ยอมกินอาหาร หรือดูดแต่ขวดนม กินอาหารได้ไม่ครบ 5 หมู่ เช่น ไม่กินข้าว เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ หรือห่วงแต่เล่น พ่อแม่ที่วิตกกังวลกลัวลูกจะขาดอาหาร จึงพยายามสรรหาวิตามินมาเสริม หวังให้ลูกได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ โภชนาการสำหรับเด็กเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กเล็กก่อนวัยเรียน เป็นช่วงที่มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง อาหารเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่จะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ให้อาหารครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเพียงพอและสมวัย นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า วิตามินที่ผู้ปกครองส่วนมากมักจะเสริมให้ลูก ได้แก่ วิตามินซี น้ำมันตับปลา วิตามินรวม ธาตุเหล็ก เป็นต้น กรณีที่เด็กขาดสารอาหารมีความจำเป็นต้องได้รับวิตามินเสริม แพทย์จะพิจารณาให้ตามความเหมาะสม การให้วิตามินเสริมในเด็กที่ปกติ นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ต่อเด็กแล้ว อาจเกิดพิษหรือผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนั้น เพื่อให้เด็กมีพฤติกรรมการบริโภคที่ดี ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับการจัดอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เป็นแบบอย่างที่ดีของการรับประทานอาหารให้ครบถ้วน หลากหลาย กินผักผลไม้เป็นประจำสม่ำเสมอ โดยเริ่มให้นมแม่อย่างเดียวสำหรับทารก 6 เดือนแรก เริ่มอาหารตามวัยที่พอเหมาะ 1 มื้อ เมื่อทารกอายุ 6 เดือน พร้อมกับลดมื้อนม และเพิ่มอาหารตามวัยเป็น 2-3 มื้อ เมื่ออายุ 8-10 เดือน หลังอายุ 1 ปี เด็กควรดื่มนมรสจืดวันละ 2-3 ครั้ง เลิกดูดขวดนม จะทำให้เด็กเจริญเติบโตมีสุขภาพแข็งแรงและห่างไกลจากโรคเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ส่งเสริมบรรยากาศการกินในครอบครัวไม่บังคับให้เด็กกิน เพราะเด็กจะต่อต้านการกินอาหาร ทำให้เป็นเด็กกินยากและเลือกกิน