ชี้ 1,000วันแรกของชีวิตสำคัญที่สุด มุ่งส่งเสริม สนับสนุน ปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้ได้เหมาะสมเป็นมาตรฐานเดียวกัน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ในปี 59 พบว่า มีทารกไทยเพียงร้อยละ 40 ได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และมีเพียงร้อยละ 23 ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นมีทารกเพียงร้อยละ 13 ที่ได้กินนมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี ซึ่งเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 1,000 วันแรกของชีวิตที่เป็นช่วงสำคัญที่สุด จึงมุ่งเน้นวางนโยบายและการจัดบริการที่มีคุณภาพเพื่อส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสกินนมแม่อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาพบว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จนั้น เกิดจากไม่ได้เตรียมตัว ขาดการวางแผนหรือแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น การจัดระบบบริการสาธารณสุข บุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพจึงเป็นบุคลากรกลุ่มสำคัญที่มีส่วนช่วยในการให้ความรู้ สอนทักษะ ช่วยแก้ไขปัญหา รวมทั้งจัดบริการให้การส่งเสริม สนับสนุนและปกป้องให้แม่สามารถให้นมลูกได้อย่างเต็มที่ พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า ถือเป็นการสร้างความร่วมมือที่แสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขให้สามารถจัดบริการส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านความร่วมมือจัดฝึกอบรมหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อให้บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการ ในหน่วยบริการคลินิกนมแม่ หรือในหน่วยบริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานอนามัยแม่และเด็กมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีทักษะที่เพียงพอ สามารถช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างเหมาะสมเป็นมาตรฐานเดียวกัน รศ. ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า คณะพยาบาลศาสตร์ มีบทบาทเป็นผู้ผลิตและจัดทำหลักสูตร การพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งเป็นหลักสูตรการอบรมความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลักสูตรแรกในไทยที่ได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาล เพื่อให้พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้รับการอบรมอย่างเป็นระบบทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการพยาบาลแบบองค์รวมแก่สตรีตั้งครรภ์ มารดา เด็ก รวมถึงบุคคลในครอบครัว นอกจากนี้ ยังสอนทักษะให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งในภาวะปกติ ผิดปกติและเจ็บป่วย โดยบูรณาการผลงานวิจัยหลักฐานเชิงประจักษ์และนวัตกรรมในการดูแลช่วยเหลือมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ