"อุเทน"ปูด จนท.รัฐลงพื้นที่ทำชาวบ้านหวาดระแวงส่งผลกระแสประชามติตีกลับ เชื่อเสียง ปชช.สะท้อน 7 ส.ค.นี้ ดัก คสช.ผ่านไม่ผ่านก็ต้องเลือกตั้งปี 60 หวังผู้มีอำนาจตั้งสติคิดเพื่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง เตือนเรื่องกรรมลิขิตอาจเสียคนตอนแก่ วันที่ 3 ส.ค.59 นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค.นี้ว่า ก่อนหน้านี้ตนได้เคยวิเคราะห์ไว้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติอย่างไม่ยากเย็นนัก เพราะประชาชนอยากให้มีการเลือกตั้ง แต่ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมากระแสสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร เนื่องจากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ไปประชาสัมพันธ์ แต่บางส่วนกลับทำให้เกิดความสับสนและสร้างความหวาดระแวงขึ้นมากกว่า อีกทั้งการทำหน้าที่ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถบริหารจัดการการส่งร่างฯหรือเอกสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง ประชาชนจำนวนมากไม่ได้รับรวมทั้งตนเองด้วย ทั้งที่ใช้งบประมาณไปเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งตรงนี้จะส่งผลสะท้อนออกมาในวันที่ 7 ส.ค. นายอุเทน กล่าวต่อว่า ไม่ว่าผลการลงประชามติจะออกมาเช่นไร รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีหน้าที่ดำเนินการให้มีการเลือกตั้งอย่างช้าไม่เกินเดือน ส.ค.60 ตามที่เคยประกาศไว้ และหากต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ล่ะก้อ อยากจะขอให้ คสช.ทบทวนการจัดทำรัฐธรรมนูญให้มีความเข้าใจง่าย และเป็นตามหลักสากล ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้เคยกล่าวไว้ ที่สำคัญไม่ควรนำวาทกรรมจะร่างรัฐธรรมนูญที่ตีกรอบให้โหดหนักขึ้นไปอีกมาข่มขู่หรือใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน เหมือนที่ผู้ใหญ่ใน คสช.บางคนเคยกล่าวว่า หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่าน จะต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้โหดกว่านี้ และรู้สึกเสียดายที่ คสช.ไม่รับฟังคำแนะนำของตน ที่ให้ประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลยถ้า คสช.เองเห็นว่าร่างนี้ดีหรือเหมาะสมแล้ว โดยไม่ต้องทำประชามติ เพราะเมื่อมาถึงตอนนี้ก็มีแต่ทำให้ประเทศชาติเสียทั้งโอกาส เสียเวลา และเสียงบประมาณ โดยใช่เหตุ นายอุเทน กล่าวย้ำถึงข้อกังวลว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อาจจะสร้างความสับสนในอนาคตด้วยว่า พรรคคนไทยได้ตั้งข้อสังเกตหลายครั้งก่อนหน้านี้ว่า ตามหลักแล้ว รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงต้องร่างโดย ส.ส.หรือผู้แทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ดังนั้นไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใด เมื่อประกาศใช้แล้ว ขอเน้นว่าต้องแก้ไขได้ง่าย ไม่ใช่เขียนให้แก้ยากอย่างฉบับที่ร่างมานี้ ส่วนกรณีที่ กรธ.ระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นฉบับปราบโกงนั้น จะเห็นได้ว่ามีเพียงการพูดแค่ดูดี เน้นมุ่งสร้างกลไกตรวจสอบและลงโทษนักการเมืองเท่านั้น ซึ่งต้องถามว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นในบ้านเมืองนี้มีเพียงนักการเมืองเท่านั้นหรือที่โกง เหตุใดจึงไม่มีบทบัญญัติที่สามารถดำเนินการตรวจสอบฝ่ายข้าราชการ ที่ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของกระบวนการทุจริตคอร์รัปชั่น “อยากกราบภาวนาขอให้พระสยามเทวาธิราช ช่วยดลบันดาลให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง มีสติคิดให้ได้เพื่อบ้านเมืองเราเสียที มีความกล้าหาญในการบริหารบ้านเมืองและปกครองด้วยหลักคุณธรรม คิดถึงใจเขาใจเรา และเชื่อในเรื่องกรรมลิขิต ขอให้ดูบทเรียนของบุคคลระดับสูงหลายคน ผลสุดท้ายที่จบลงไม่ดี ต้องเสียคนเมื่อแก่” นายอุเทน ระบุ