เป็นที่ทราบดีว่า อหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในสุกรบ้าน และสุกรป่า ไม่ติดต่อสู่คนและสัตว์ชนิดอื่น ปัจจุบันพบการระบาดของโรคในหลายภูมิภาคของโลก รวมทั้งยุปโรปตะวันออก รัสเชีย ร่วมถึงจีนและเวียดนามที่อยู่ใกล้กับประเทศไทย แม้ประเทศไทยยังไม่มีการรายงานการระบาดของโรคนี้ และถือว่าไทยตื่นตัวและเร่งสร้างกำแพงตั้งรับ ASF อย่างเข้มแข็ง นับตั้งแต่รู้ว่าโรคนี้อุบัติขึ้นในจีนเมื่อสิงหาคมปีที่แล้วก็ตาม แต่วันนี้ต้องถือว่า ASF เป็นเรื่องที่ต้องรีบเร่งดำเนินการป้องกันอย่างถึงที่สุด เพราะโรคนี้รุกคืบใกล้ไทยเข้ามาทุกขณะ เพียงแค่ยังมีกัมพูชาและลาวเป็นปราการกั้นการแพร่โรคจากจีนและเวียดนามอยู่เท่านั้น แล้วฟาร์มสุกรของไทยได้ตั้งปราการป้องกันที่ดีแล้วหรือยัง? ทั้งนี้ อ.น.สพ.ดร.นิติพงศ์ หอมวงษ์ ภาควิชาสัตวบาล ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงสุกรแห่งชาติ คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้คำแนะนำว่า ไทยต้องเรียนรู้จากจีนและเวียดนามที่การแพร่เชื้อเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยที่เลี้ยงหมูหลังบ้านอยู่เป็นจำนวนมาก ระบบการป้องกันโรคยังขาดประสิทธิภาพ ทำให้ไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้ หากไม่อยากซ้ำรอย 2 ประเทศ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ ที่ต้องออกหน้าเป็นโต้โผใหญ่ในการสั่งการและเป็นตัวประสานทุกภาคส่วน ด้วยการออกมาตรการที่เข้มงวดไม่ให้สุกร ชิ้นส่วนสุกร และผลิตภัณฑ์สุกรไม่ว่าจะมาจากประเทศไหนเข้ามาในไทยได้ ยิ่งประเทศที่มีการระบาดยิ่งต้องห้ามนำเข้าเด็ดขาด ขณะเดียวกันกรมปศุสัตวต้องเดินหน้าหารือกับกรมปศุสัตว์กัมพูชาและลาว ให้ร่วมด้วยช่วยกันป้องกันการลักลอบนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะจากเวียดนามและจีน เพื่อบูรณาการร่วมกันในการป้องกันโรคนี้อย่างเร่งด่วน ที่สำคัญรัฐบาลต้องเตรียมการชดเชยช่วยเหลือเกษตรกรไว้ในกรณีฉุกเฉินหากโรคนี้บุกเข้าไทยได้ เพื่อเป็นการจำกัดขอบเขตไม่ให้การกระจายของเชื้อแพร่ออกไป เหมือนอย่างในจีนและเวียดนามที่มีบทเรียนให้เห็นแล้ว แม้ว่าโรค ASF จะกลายเป็นมหันตภัยของวงการเลี้ยงสุกร แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงทุกคน ยังมีความหวังอย่างยิ่งว่าไทยจะเป็นประเทศที่หลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ของโรค ASF เพราะมีหลายประเทศที่สามารถป้องกันตัวเองได้ด้วยระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ในระดับสูง ซึ่งทุกภาคส่วนกำลังเร่งดำเนินการอยู่ และถือเป็นโชคดีที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านการเลี้ยงหมูในภูมิภาคเอเชีย จึงมีองค์ความรู้ทั้งด้านสัตวแพทย์และสัตวศาสตร์ ที่พร้อมตั้งรับเรื่องนี้อย่างเต็มกำลัง โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการตั้ง War Room ของภาครัฐและผู้เลี้ยงสุกร เพื่อตรวจหาจุดเสี่ยง ASF ทั้งในส่วนจังหวัด อำเภอ ตำบล ไปจนถึงหมู่บ้าน รวมทั้งการจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศในทุกสัปดาห์ ด้วยความร่วมมือของกรมปศุสัตว์ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยที่มีการเรียน การสอน และงานวิจัยเกี่ยวกับปศุสัตว์ ทั้งหมดนี้ ต้องฝากความหวังไว้กับรัฐบาลไทย ที่ถึงเวลายกระดับเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติโดยเร็วที่สุด ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริง เพราะหากภาคอุตสาหกรรมสุกรมีปัญหา ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคผู้ผลิตพืชไร่และธุรกิจอื่นที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตสุกรที่อาจได้รับความเสียหาย ทำให้ประเทศชาติมีปัญหาในภาพรวมเหมือนอย่างจีนกับเวียดนาม ถึงวันนั้นคงสายเกินแก้